“เชลซี” กับปรัศนีย์ 5 ประการ ?? (1)

Photo of author

โลกฟุตบอลยังหมุนตามครรลอง ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นร้อนให้ติดตามมากมาย อาทิ ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก ที่ประเทศฝรั่งเศส กำลังเข้าสู่นัดสุดท้าย รอบแบ่งกลุ่ม, อาร์เจนตินา+ลิโอเนล เมสซี ที่เปิดตัวราวฝันร้ายในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอเมริกาใต้ นัดแรก รอบแบ่งกลุ่ม, ฟิลิปเป คูตินโญ จะเลือกเดินทางสายใดหลังถูก บาร์เซโลนา ลงมติเชือด และ รีล มาดริด อาจกำลังนำยุค “กาลาคติคอส” กลับมาอีกครั้ง โดยเริ่มจาก เอแดน อาซาร์ แล้วต่อไปจะตามมาด้วย “เหนือมนุษย์” รายอื่น

ส่วนใน พรีเมียร์ลีก ประเทศอังกฤษ ประเด็นส่วนใหญ่เป็นของบรรดาผู้เล่น เนื่องจากในกลุ่ม “ท็อป ซิกซ์” มีสโมสรเดียวที่เกิดการเปลี่ยนแปลงกุนซือหลังจบฤดูกาล (ไม่นับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพราะตะเพิด โฆเซ มูรินโญ ไปตั้งแต่กลางฤดูกาล) นั่นคือ เชลซี “สิงห์ร้ายแห่ง เดอะ บริดจ์”

จนถึงตอนนี้สถานการณ์เก้าอี้กุนซือ เชลซี ก็ยังไม่นิ่ง หลังแยกทางกับ เมาริซิโอ ซาร์รี แบบชื่นมื่น โดยรายชื่อ 3 คน ที่เต็งจะมารับงานต่อจากเทรนเนอร์อิตาเลียน ได้แก่ แฟรงค์ แลมพาร์ด ตำนานกองกลางจอมถล่มประตู ที่ปัจจุบันยังมีอนาคตกับ ดาร์บี เคาน์ตี (เมล มอร์ริส ประธานสโมสร ดาร์บี เพิ่งออกมาชี้แจงว่า เชลซี ยังไม่เคยติดต่อเข้ามาจีบ แฟรงค์ แลมพาร์ด), นูโน เอสปิริโต ซานโต ผู้คืนชีพ วูล์ฟแฮมป์ตัน ให้กลายเป็นหมาป่าเกี้ยวกราดอีกครั้ง และคนสุดท้าย เอริค เทน ฮาก ผู้ปลุก อาแยกซ์ อัมสเตอร์ดัม จนจวนเจียนจะได้เขย่าบัลลังก์เจ้ายุโรปเมื่อฤดูกาลที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ความสามารถของกุนซือ อาจไม่ใช่ปัญหาเดียวที่ฉุดรั้ง เชลซี จนไม่หลงเหลือร่องรอยของสโมสร “ลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีก” ซึ่งสื่อมวลชนฝั่งอังกฤษมองว่าตำแหน่ง “ผู้จัดการ” คือปลายเหตุ หรืออาจบอกได้ว่า “เดอะ บริดจ์“ มีปัญหามากกว่านั้น และหากเรื่องเหล่านั้นยังไม่ถูกสะสาง ไม่ว่าใครก็ตามที่ถูกเลือกเข้ามา คงไม่แคล้วต้องปวดหัวกันต่อไป

1.ผู้ใดจะหาญนั่งเทรนเนอร์ของ เชลซี ?
ผู้กล้าหาญรายต่อไป จะเป็นเทรนเนอร์ ลำดับ 12 ของ “สิงโตน้ำเงินคราม” ในยุคเจ้าของสโมสรชื่อ โรมัน อาบราโมวิช โดยใน 11 คนก่อนหน้านี้ มี 3 คนที่เข้ามารับงานภายใต้สัญญา “ชั่วคราว” หรือเรียกว่า “รักษาการณ์” นั่นเอง ส่วนปัจจุบันเมื่อไล่เรียง 3 ตัวเก็ง จะพบว่า เอริค เทน ฮาก มีเสน่ห์ไม่น้อยเมื่อมองที่ผลงานของเขากับพลพรรค “ฟลายอิง อาแยกซ์” ฝากความลือลั่นใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก หรือความน่าตื่นตาของ วูล์ฟแฮมป์ตัน ที่รังสรรค์โดย นูโน เอสปิริโต ซานโต ใครจะกล้าปฏิเสธว่า “ไม่ตื่นเต้น” ทว่าห้วงนี้หากคิดหาผู้กอบกู้ “เดอะ บริดจ์” บางทีเรียกหาบริการจากคนใกล้ตัวอาจเป็นเรื่องเหมาะสมมากสุดก็เป็นได้ เพราะย่อมลึกซึ้งวัฒนธรรมภายในมากกว่าใคร

แฟรงค์ แลมพาร์ด อดีตดาวรุ่ง เวสต์แฮม ผู้เคยใช้ชีวิต 13 ปีในเครื่องแบบสีน้ำเงินครามอย่างโชกโชน เขาคือเจ้าของสถิติดาวยิงสูงสุดของ เชลซี (ทั้งที่เล่นตำแหน่ง กองกลาง) ซึ่งเพียงปีแรกในการทำงานผู้จัดการ เขาก็พา ดาร์บี เคาน์ตี มีลุ้นเลื่อนชั้นสู่ พรีเมียร์ลีก ก่อนจะแพ้ แอสตัน วิลลา ในรอบชิงชนะเลิศ เพลย์ ออฟ

ด้วยวัย 40 ปีที่ไฟการทำงานกำลังลุกโชน กวาดแชมป์ 11 รายการตลอดระยะเวลา 13 ปี แฟรงค์ แลมพาร์ด คงพร้อมแล้วที่จะกลับสู่ “เดอะ บริดจ์” อีกครั้ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง (มีแววว่าจริงแน่ เพราะล่าสุดของล่าสุด มีกระแสว่า แลมพ์ส ขึ้นเรือสำราญเพื่อหารือส่วนตัวกับฝ่าย เชลซี) ก็เท่ากับว่า เชลซี จะหวนใช้บริการกุนซืออังกฤษ เป็นครั้งแรกหลังจากผ่านไป 26 ปี นับตั้งแต่รายล่าสุดคือ เกล็น ฮอดเดิล เมื่อปี 1993

2.รับงาน เชลซี ฤดูกาลนี้ อดเข้าตลาดนักเตะ
สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ลงโทษเจ้าของแชมป์ ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ห้ามยุ่งเกี่ยวกับตลาดนักเตะภาคฤดูร้อนปี 2019 กับภาคฤดูหนาวปี 2020 เนื่องด้วยความผิดฐานซื้อขายนักเตะเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังดีที่ก่อนหน้านี้เดินเรื่องฉับไวไปคว้า คริสเตียน พูลิซิช ตัวรุกทีมชาติสหรัฐอเมริกา มาได้ล่วงหน้าจาก โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในราคา 58 ล้านปอนด์ (แพงสุดอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์สโมสร) ช่วยให้บรรยากาศพอกระชุ่มกระชวย ไม่อับเฉาจนเกินไป

หากเทียบเคียงกับ “ไก่เดือยทอง” ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ที่ฤดูกาล 2018-2019 ไม่ซื้อผู้เล่นใหม่เสริมเลย ทว่ากลับจบ 1 ใน 4 อันดับแรก พรีเมียร์ลีก อย่างสง่างาม ซ้ำยังทะยานเข้าชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้แบบหลายคนคาดไม่ถึง บางทีข้อจำกัดของ เชลซี อาจไม่พัฒนากลายเป็นวิกฤติ อย่างไรก็ตาม มองอีกแง่มุม ถึงจะไม่มีของสดใหม่เพิ่ม แต่กลุ่มนักเตะเก่าก็ไม่มีใครไปไหน ทำให้ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน กุนซืออาร์เจนไตน์ ได้อยู่กับทรัพยากรที่คุ้นเคย สัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกันมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น 2-3 ปี จึงทำให้ “สเปอร์ส” ไม่เสียสมดุล ดังนั้น “ความคุ้นเคย” ระหว่าง “นิว แมเนเจอร์-โอลด์ เพลเยอร์ส” จึงอาจเป็น “คีย์” ในการทำงานของกุนซือคนใหม่ ต่อให้คนนั้นเป็น แฟรงค์ แลมพาร์ด ตำนานอันเป็นที่รักของสโมสรก็ตาม

การเสีย เอแดน อาซาร์ ไปให้ รีล มาดริด อาจหมายถึงรายละเอียดแผนการเล่นที่ต้องเปลี่ยนไปแน่นอน เพราะอย่าลืมว่า คริสเตียน พูลิซิช คงต้องใช้เวลาเพื่อก้าวขึ้นไปอยู่ระดับเดียวกับจอมทัพทีมชาติเบลเยียม นอกจากนี้ตรงกลางจะจัดสรรให้ เอ็นโคโล ก็องเต แบ่งบทบาทกันอย่างไรกับ จอร์จินโญ เฟรโญ เนื่องจาก ซาร์รี สร้างรูปแบบการเล่นให้ จอร์จินโญ เป็นศูนย์กลาง มันจึงกลายเป็นลดทอนความสำคัญ ก็องเต ที่ก็มีจุดเด่นเรื่องปักหลักปะทะ เก็บกวาดก่อนเภทภัยจะคุกคามคู่เซนเตอร์แบ็ก

ยังมีต่ออีก 1 ตอนนะครับ
ฟีนิกซ์ วิหคเพลิง