“เออร์ลิง ฮาแลนด์” อุบัติการณ์……เทพสังหาร

Photo of author

เรากำลังอยู่ในยุคของยอดมนุษย์ 2 คน …ลิโอเนล เมสซี และ คริสเตียโน โรนัลโด

จนเมื่อกงล้อกาลเวลาหมุนไประยะหนึ่ง เราเฝ้ามองด้วยความกระหายใคร่รู้อนาคตว่า เมื่อหมดยุคของ 2 มนุษย์ทองคำ ใครจะก้าวขึ้นมาทรงอิทธิพลเป็นรายต่อไป เนย์มาร์ ดา ซิลวา ซานโตส ที่เคยถูกจับจ้อง ตอนนี้ก็อายุใกล้ 30 ปี ซึ่งเขาคงไม่ใช่แล้ว

หรือจะเป็น คิลิยัน เอ็มบัปเป กองหน้าดาวรุ่งวัยต้น 20 ที่แนะนำตนเองให้โลกรู้จักมาราว 2 ปี แน่นอนว่าไม่มีใครสงสัยในฝีเท้าจัดจ้าน แต่ยังต้องพิสูจน์ตนเองด้วยการยืนระยะและพัฒนาทักษะให้ฉกาจฉกรรจ์มากขึ้น

คงไม่ผิดหากจะบอกว่า คิลิยัน เอ็มบัปเป เด็กระเบิดแห่งทีมชาติฝรั่งเศส ถูกคาดหวังไว้สูงและผลงานของเขาก็ทำให้โดนจับไปโยงกับขั้วมหาอำนาจทั้ง บาร์เซโลนา, รีล มาดริด แต่หลังเข้าปี 2020 ได้ไม่ถึง 20 วัน ก็มีเด็กวัย 19 ปี สร้างปรากฏการณ์จนความร้อนแรงของ เอ็มบัปเป กลายเป็นจืดชืด

18 มกราคม 2020 โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่ยิงกระจาย (แต่ขณะเดียวกันก็มักโดนส่องกระจุย) มีคิว บุนเดสลีกา ออกเยือน ดับเบิลยู ดับเบิลยู เค อารีนา นิวาสถานของ เอาก์สบวร์ก และโดนสะกิดแผลไปก่อน 2-0 แม้จะได้ ยูเลียน บรันท์ ซัดสวยช่วยตีตื้น 2-1 ทว่าความผิดพลาดของแนวรับก็ทำให้ ดอร์ทมุนด์ ตามหลังเพิ่มเป็น 3-1 และไม่มีสัญญาณใดบ่งบอกเลยว่าพวกเขาจะสามารถ “กลับจากนรก”

นาทีที่ 56 ลูเซียน ฟาร์ฟ เทรนเนอร์ ดอร์ทมุนด์ ตัดสินใจส่ง เออร์ลิง ฮาแลนด์ (ที่ต่อมากลายเป็นประวัติศาสตร์ทันที) ลงสนามโดยเปลี่ยนตัวกับ ลูคัสซ์ พิสซ์เช็ค ก่อนที่ไอ้หนูไม่กี่วันก่อนหน้านั้นที่เพิ่งย้ายจาก เรด บูลล์ ซัลซ์บวร์ก ในช่วงตลาดนักเตะฤดูหนาวจะใช้เวลาเพียง 3 นาทีคลำเป้าสำเร็จและใช้เวลารวมเพียง 20 นาทีจัดการกระทุ้ง 3 ดอกตอก “แฮททริค” ช่วยให้ ดอร์ทมุนด์ ทะลึ่งพรวดรวดเดียวแซงชนะ 5-3

เป็นการเปิดตัวในฝันที่ยากจะมีใครคาดว่าสามารถเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม หากย้อนปูมชีวิตของ เออร์ลิง เบราต์ สายเลือดแห่ง อัลฟ์-อิงเก ฮาแลนด์ (ใช่ครับ คนเดียวกับที่โดน รอย คีน จอมโหดแห่ง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ย่ำตามน้ำอย่างเหี้ยมเกรียมนั่นแหละ) เราอาจจะหายตะลึงแต่เปลี่ยนเป็นทึ่งแทน

เออร์ลิง เบราต์ ฮาแลนด์ เกิดเมื่อ 21 กรกฎาคม ปี 2000 ที่เมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษ โดยตอนนั้นคุณพ่อของเขาค้าแข้งใน พรีเมียร์ลีก ต่อมา อัลฟ์-อิงเก รักษาอาการบาดเจ็บสำเร็จและย้ายกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายอาชีพที่บ้านเกิด นอร์เวย์ ทำให้ เออร์ลิง มีโอกาสฝึกปรือเชิงหวดลูกหนังกับชุดเยาวชนสโมสร ไบรน์ จนก้าวขึ้นชุดใหญ่ในปี 2016 ต่อด้วย โมลด์ (กับกุนซือชื่อ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์) ในปี 2017-2019

เพียง 2 ปีในชุดใหญ่ของ โมลด์ ประกายเจิดจรัสก็ฉายฉานจน เรด บูลล์ ซัลซ์บวร์ก อดใจไม่ไหวต้องกระชากไปเข้าสังกัด แต่เพียงไม่ถึง 1 ปี เออร์ลิง ฮาแลนด์ ก็ต้องเดินทางอีกครั้ง คราวนี้ระเห็จสู่เมืองเบียร์ เยอรมนี เพื่อสวมเครื่องแบบของ ดอร์ทมุนด์ และเพื่อสืบทอดตำนานดาวยิงขวัญใจเหล่าสาวก “เดอะ เยลโลว์ วอลล์”

การปฐมฤกษ์ด้วย แฮททริค ตั้งแต่ลงสนามนัดแรกให้ ดอร์ทมุนด์ นับว่าน่าตื่นตะลึง ทว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ เออร์ลิง แสดงสัญชาตญาณอันเร้าใจ โดยย้อนกลับไปสมัยอยู่ ซัลซ์บวร์ก เด็กคนนี้ลงสนามเพียง 10 นัดฟุตบอลลีก แต่กระหน่ำ 17 ประตู ซึ่งใน 17 ประตูนั้นมาจาก 3 แฮททริค และที่ร้ายกาจกว่านั้นก็คือเขาสามารถสร้าง แฮททริค แรกของเขาใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ตั้งแต่นัดแรกที่ได้สัมผัส ”ยูโรเปี้ยน ไนท์” กันเลยทีเดียว โดยเหยื่อก็คือ เกงค์

คิลิยัน เอ็มบัปเป เกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1998 ที่นครปารีส เริ่มสะสมประสบการณ์แข้งเยาวชนกับ อาแอส บงดี ต่อด้วย อาแอส โมนาโก จนถึงปี 2015 อายุเพียง 17 ปี ยังละอ่อนอยู่เลยก็โดนดึงขึ้นชุดใหญ่ของ โมนาโก เบ ลงสนาม 12 นัด ส่อง 4 ประตู

จึงไม่แปลกที่จะได้รับการผลักดันขึ้นสู่ โมนาโก อา อย่างรวดเร็ว จนถึงปี 2018 ก็สอยไป 16 ประตูใน 41 นัด ทำให้ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง หวั่นไหวจนไม่อาจอดกลั้น ต้นปี 2018 จึงขอยืมมาช่วยผลิตผลงาน 13 ประตูใน 27 นัด ก่อนที่จะดึงเข้าสังกัดถาวรในเวลาต่อมา

จนถึงบัดนี้ (ก่อนถึงวันเสาร์ที่ 22 ก.พ. 2020) คิลิยัน เอ็มบัปเป กระหน่ำให้ ปารีสฯ 48 ประตูใน 47 นัด ค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพถือว่าดุดันมหันตภัย ทว่ามันก็ยังบ้าคลั่งน้อยกว่า เออร์ลิง ฮาแลนด์ ซึ่งผ่านการรับใช้ ดอร์ทมุนด์ เพียง 7 นัด บุนเดสลีกา (ด้วยเวลาที่รวมแล้วน่าจะประมาณเพียง 500 นาที) แต่กะซวกไป 9 ประตู อาละวาดจน เอ็มบัปเป ภาคปฐมบทยังต้องยอมถอยให้

ลงสนามครบ 90 นาที 7 นัด ส่อง 9 ประตู ก็นับว่าไม่ธรรมดาแล้ว นี่น่าทึ่งกว่ากับการเป็นตัวจริงสลับสำรอง 7 นัด แล้วกระทุ้งเกือบ 10 ประตู (ค่าเฉลี่ยล่าสุดคือ 1 ประตู/ 49 นาที) แต่มันน่าตื่นตะลึงยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อย้อนอดีตไปแล้วพบว่าบุตรของ อัลฟ์-อิงเก เคยระเบิดตาข่าย 9 ประตู (พากย์ภาษาอังกฤษว่า แฮททริค ออฟ แฮททริคส์ : hat-trick of hat-tricks) ในการลงสนามเพียง 1 นัดให้ทีมชาตินอร์เวย์ โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 2019 คราวฟุตบอลโลก รุ่นอายุต่ำว่า 20 ปี รอบแบ่งกลุ่มที่ขุนพลไวกิงส์ บดขยี้ ฮอนดูรัส 12-0

ท้ายสุด นอร์เวย์ ไม่อาจหลุดเข้ารอบน็อคเอาต์ ของรายการ กระนั้นก็ตาม เออร์ลิง ฮาแลนด์ ยังอุตส่าห์คว้าตำแหน่งดาวยิงสูงสุดของรายการโดยทิ้งอันดับ 2 ไกลถึง 5 ประตู อีกทั้งการสอย 9 ประตูในนัด 1 นัด ก็กลายเป็นสถิติใหม่ของรายการโดยทุบสถิติเดิมของ อเดลดัน มาร์ตินส์ อย่างราบคาบ โดยอดีตดาวรุ่งบราซิเลียน เคยทะลวง เกาหลีใต้ 6 ประตูเมื่อปี 1997 นอกจากนี้ 12-0 ก็ยังเป็นสถิติแพ้-ชนะ ขาดลอยที่สุดในประวัติศาสตร์ “ฟีฟ่า U20 เวิลด์ คัพ”

ตั้งแต่ ปิแอร์ เอเมริค-โอบาเมยัง แยกทางกับ ดอร์ทมุนด์ มีบางครั้งบางอารมณ์ที่ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี หนึ่งในหัวหอกดีสุดของโลก แสดงความโหยหาคู่ดวลที่เหมาะสม ซึ่งบางทีคนนั้นอาจจะเป็นคนนี้ เออร์ลิง ฮาแลนด์ ซึ่งในฐานะผู้หลงใหลฟุตบอล เราเองต่างก็แทบทนไม่ไหวที่จะได้เห็นการปะทะแบบนัดต่อนัดระหว่าง เลวานดอฟสกี-ฮาแลนด์ ที่จะอุบัติขึ้นอย่างเต็มตัวตั้งแต่ฤดูกาลหน้าเป็นต้นไป

ปัจจุบันด้วยเหล่าขุนพลพลุ่งพล่านอย่าง อัชราฟ ฮาคิมี, อักเซิล วิตเซล, จิโอวานนี เรย์นา (ทายาท เคลาดิโอ เรย์นา ตำนานกองกลางทีมชาติสหรัฐอเมริกา ที่เคยสวมเสื้อ แมนเชสเตอร์ ซิตี ช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับ อัลฟ์-อิงเก ฮาแลนด์) , เจดอน ซานโช, ธอร์กาน อาซาร์, ยูเลียน บรันท์, ยาค็อบ บรุนน์ ลาร์เซน, มาร์โค รอยส์

เมื่อมีการเข้ามาของ เออร์ลิง ฮาแลนด์ ก็ดูจะกลายเป็นส่วนเติมเต็มให้บรรยากาศภายใน โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ กลับไปคล้ายอดีตที่เคยมียุทโธปกรณ์ อาทิ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี, ลูคัส บาร์ริออส, ชินจิ คางาวะ, ยาคุบซ์ บลาสซีคอฟสกี ไว้เข่นฆ่าตาข่ายคู่ต่อสู้ ขณะเดียวกันก็มี มัทส์ ฮุมเมิลส์, นูริ ซาฮิน, เนเวน ซูโบติช และ โรมัน ไวเดนเฟลเลอร์ ยืนหยัดร่วมกันเป็นป้อมปราการต้านภัย

จึงเชื่อได้เลยว่า โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เมื่อมีพลังสังหารราวไม่มีวันเหือดแห้งของ เออร์ลิง ฮาแลนด์ พวกเขาในอีกไม่นานจะเกรี้ยวกราดมากขึ้นจนถึงระดับท้าทาย บาเยิร์น มิวนิค อย่างเต็มตัวอีกครั้ง

กัปตันโยฮัน
หมายเหตุ : ตั้งต้นจากบทความใน www.bundesliga.com เสริมด้วยข้อมูลจากเว็บไซต์ soccerway กับ en.wikipedia