24 ชาติเนื้อนิ่มเปิดศึก ชิงแชมป์โลกครั้งที่ 8 (ตอน 4)

Photo of author

มาถึงตอนสุดท้ายแล้ว “Sport Express” แนะนำชาติที่เข้ารอบสุดท้าย ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 8 “ฟีฟ่า วีเมนส์ เวิลด์ คัพ ฟรองซ์ 2019” โดยวันนี้ถึงคิวชาติทีมชาติไทยซึ่งอยู่กลุ่ม เอฟ ร่วมกับ สหรัฐอเมริกา, ชิลี และ สวีเดน

สวีเดน
สวีเดน มีฐานะรองแชมป์โลกปี 2003 เป็นศักดิ์ศรีติดตัวพ่วงด้วยอันดับ 9 ของโลกจากการรวบรวมคะแนนโดย ฟีฟ่า แต่ถ้าเจาะลงไปในรายละเอียดแล้วจะพบว่า ในการร่วมศึกสำคัญ 3 รายการล่าสุด สาวจากแดนฟรีเซ็กส์ กำชัยได้เพียง 2 นัด ซึ่งนั่นอาจเป็นข้อมูลที่ทำให้นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านฟุตบอลหญิงหลายท่าน มองตรงกันว่า สวีเดน มีโอกาสกระเด็นตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม มากกว่าได้ไปต่อในรอบน็อคเอาต์
สถิติน่าสนใจ : แคโรลีน เซเกอร์ สวมปลอกแขนนำทัพสู้ศึกโชกโชนมานาน 10 ปี แต่เธอยังไม่อ่อนล้า เช่นเดียวกับ นิลลา ฟิสเชอร์ ปราการหลังวัย 34 ปี ซึ่งเธอทั้งสองสมควรเป็นกุญแจสำคัญของ สวีเดน สำหรับใช้ไขผ่านประตูรอบน็อคเอาต์
ความจริงควรรู้ : เป็นความจริงที่ แคโรลีน เซเกอร์, นิลลา ฟิสเชอร์ คือศูนย์รวมและเสาหลักทัพฟรีเซ็กส์ ถึงกระนั้นต้องยอมรับว่าดาวดวงเด่นแท้จริงกลับ ได้แก่ สตินา แบล็คสเตนิอุส กองหน้าที่มีลีลาเกี้ยวกราด รวดเร็ว และการสับไกทรงพลังแม่นยำ โดย 3 ประตูที่เธอจัดให้ในรอบคัดเลือก มีส่วนสำคัญมากต่อการพาทีมคว้าตั๋วไปฝรั่งเศส

แอฟริกาใต้
แอฟริกาใต้ หรือในฉายา “บานยานา บานยานา” (ถ้าเป็นชายจะเรียก “บาฟานา บาฟานา”) เข้ามาสู่รอบสุดท้ายของ “เวิลด์ คัพ” เป็นครั้งแรก แต่รสชาติแรกแห่งสัมผัสอาจดูโหดร้ายไม่น้อย เมื่อต้องอยู่กลุ่ม บี ร่วมกับของแข็งอย่าง เยอรมนี แชมป์โลก 2 สมัย, จีน รองแชมป์โลก 1 สมัย เสริมด้วย สเปน ที่ไม่อาจประมาทในมาตรฐาน
สถิติน่าสนใจ : เทมบี เคกัตลานา กองหน้าวัย 23 ปี เพิ่งคว้าตำแหน่งผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งทวีปแอฟริกา ประจำปี 2018 พ่วงด้วยการหิ้วรองเท้าทองคำไปกกกอด จากผลงานดาวยิงสูงสุดประจำรายการชิงแชมป์แห่งชาติแอฟริกา “แอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์”
ความจริงควรรู้ : เดซิรี เอลลิส อดีตเทรนเนอร์ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เลดีส์ คือปูชนียบุคคลผู้สร้างคุณูปการแก่งวงการฟุตบอลหญิงแอฟริกาใต้ เธอคือหนึ่งในผู้ริเริ่มก่อตั้งทีมฟุตบอลหญิง ก่อนหน้านี้ในปี 2016 เคยเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนรักษาการ จนในปี 2018 เธอตกลงรับงานอย่างถาวร และนั่นกลายเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมทั้งของเธอเองและสมาคมฟุตบอล ราวเหมือนเกิดมาเพื่อกันและกัน

เกาหลีใต้
เมื่อ 4 ปีก่อน เกาหลีใต้ จบรอบแบ่งกลุ่มด้วยอันดับ 2 หลุดเข้าไปสู้รอบแพ้คัดออก ก่อนจะโดนฝรั่งเศส น็อคเอาต์ อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลหญิงโสมขาวอ่อนด้อยกว่าฝ่ายชายแบบทาบไม่ติด พวกเธอสะกดคำว่า “ชนะ” ได้เพียง 1 นัด ส่วนกับ “เวิลด์ คัพ 2019” ก็มาถึงรอบสุดท้ายอย่างทุลักทุเล ผ่านรอบคัดเลือกได้โดยต้องอาศัยผลต่างประตูได้-เสีย
สถิติน่าสนใจ : จี โซ ยุน วัย 28 ปี ปัจจุบันคือแนวรุกแกนนำของเกาหลีใต้ เป็นเจ้าของสถิติดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของทีมชาติ นั่นคือ 54 ประตูจาก 117 นัด โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2006 ขณะอายุ 15 ปี เธอสร้างสถิติติดทีมชาติอายุน้อยที่สุด ส่วนระดับสโมสร เธอค้าแข้งในอังกฤษสังกัด เชลซี
ความจริงควรรู้ : ยุน ด็อค เยา เฮดโค้ชมาดเครียดของเกาหลีใต้ เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2012 การอยู่มานานถึง 7 ปี นับว่าไม่ธรรมดาเลยกับโลกฟุตบอลยุคปัจจุบันอันเร่งรีบ และด้วยความชำนาญในแบบกองหลังชุดฟุตบอลโลก ปี 1990 เขาจึงสร้างทีมขึ้นมาโดยเน้นฐานรากคือการป้องกันเป็นอันดับแรก

สเปน
สเปน ไร้พ่ายตลอดปี 2018 ซ้ำยังชนะ 100 เปอร์เซ็นต์ในรอบคัดเลือก รวมทั้งเปิดสนาม “ฟรองซ์ 2019” ด้วยการบด แอฟริกาใต้ โอกาสเข้ารอบต่อไปถือว่าเปิดกว้าง อย่างไรก็ตาม พิจารณาจากคู่ดวลที่เข้าขั้นหน่อมแน้ม ด่านที่เหลืออยู่อย่าง เยอรมนี, จีน ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะขวางกั้น สเปน ให้ไปไม่ถึงรอบแพ้คัดออก
สถิติน่าสนใจ : เฆนนิเฟอร์ เฮร์โมโซ ศูนย์หน้าสโมสร แอตเลติโก มาดริด คือดาวยิงสูงสุดฟุตบอลลีกสเปน ฤดูกาล 2018-2019 ส่วนผลงานในรอบคัดเลือกนั้นเข้าขั้นไร้เทียมทาน เมื่อกระทุ้ง 7 ประตูและสร้างโอกาสให้เพื่อนยิงได้อีก 9 ประตู
ความจริงควรรู้ : ฆอร์เก บิลดา วัย 37 ปี (เกิดวันที่ 7 ก.ค. 1981) คือเทรนเนอร์อายุน้อยสุดใน “ฟรองซ์ 2019” ทั้งยังเป็นเฮดโค้ชยอดเยี่ยมคนล่าสุดของ ฟีฟ่า และหาก สเปน ทะลุไปถึงรอบชิงชนะเลิศ เขาจะมีอายุเต็ม 38 ปีพอดีในวันที่ “กระทิงสาว” ลงสนามตัดสินแชมป์

ไทย
เมื่อไล่สายตาเห็นชื่อเพื่อนร่วมกลุ่มแล้ว คาดการณ์ไม่ยากว่าแผนสู่รอบน็อคเอาต์ของทีมชาติไทยคือเจอ สหรัฐอเมริกา ต้องแพ้ให้น้อยสุดเท่าที่จะน้อยได้ จากนั้นเจอ สวีเดน ลุ้นยันเสมอหรือไม่ก็แพ้ในแบบเดียวกับที่เจอสหรัฐอเมริกา และปิดท้ายด้วยการตบ ชิลี ให้กระจุยสุดเท่าที่จะสามารถ
สถิติน่าสนใจ : นี่คือรอบสุดท้าย “เวิลด์ คัพ” ครั้งที่ 2 ของทีมชาติไทย โดยครั้งแรกคือปี 2015 ผลงานคือจอดแค่รอบแบ่งกลุ่มด้วยการแพ้ยับ 0-4 ให้ทั้ง นอร์เวย์, เยอรมนี ก่อนจะฮึดเฉือน ไอวอรีโคสต์ 3-2 แบ่งเป็นของ อรทัย ศรีมณี (2 ประตู), ธนัสถา ชาวงษ์ (1 ประตู) แต่เมื่อ ธนัสถา ไม่อยู่ในทีมชุดล่าสุด จึงเท่ากับว่าหลงเหลือ อรทัย เป็นสาวไทยคนเดียวที่เคยฉีกตาข่ายในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
ความจริงควรรู้ : ไทย, จาไมกา คือเต็งท้ายสุดร่วมกันในอัตราโอกาสคว้าแชมป์รายการนี้ โดยความน่าจะเป็นคือ 500/1 (วาง 1 ได้กลับคืน 500 ไม่รวมทุน) ส่วนกลุ่มเต็งแชมป์ก็เป็นเรื่องของ ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, เยอรมนี และ เนเธอร์แลนด์

สหรัฐอเมริกา
แชมป์โลก 3 สมัย บุกแดนน้ำหอมในฐานะแชมป์เก่าจากปี 2015 ที่ปัจจุบันยังรั้งอันดับ 1 ของโลก ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 7 ครั้งของฟุตบอลโลก “สหรัฐอเมริกา” คือชื่อที่อยู่ใน 4 ทีมสุดท้ายมาตลอด ทั้งยังไม่เคยจบรายการต่ำกว่าอันดับ 3 นี่คือมาตรฐานสูงส่งของเหล่าอินทรีสาว ย่อมไม่แปลกที่พวกเธอจะถูกยกเป็นเต็ง 1 เคียงข้างเจ้าภาพ
สถิติน่าสนใจ : หลังหมดยุค เมีย แฮม ก็ถึงเวลาของ อเล็กซ์ มอร์แกน โดยกองหน้าวัย 29 ปีจากสโมสร ออร์แลนโด ไพรด์ ตะบันไปแล้ว 101 ประตูจากการรับใช้ชาติ 163 นัด แต่ความน่าพรั่นพรึงแท้จริงสำหรับฝ่ายตรงข้ามก็คือ สหรัฐอเมริกา ยังไม่แพ้เลยในนัดที่สาวคนนี้ยิงประตูได้
ความจริงควรรู้ : อย่างไรก็ตาม สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) มีมุมมองว่าดาวเด่นของแชมป์เก่าในคราวนื้อาจไม่ใช่ อเล็กซ์ มอร์แกน แต่น่าจะเป็น จูลี แอร์ทซ์ กองกลางเชิงรับที่มีอิทธิพลต่อทีมมากชึ้นโดยตลอด จนถึงตอนนี้ด้วยบทบาทรับผิดชอบ จึงทำให้เธอกลายเป็นหัวใจแดนกลางไปแล้ว

ปิดท้ายด้วยเรื่องสำคัญรองจากเกียรติยศ นั่นคือเงินรางวัลของรายการนี้ ซึ่งนิตยสาร ฟอร์บส์ รายงานว่า “ฟรองซ์ 2019” เงินรางวัลรวมคือ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบอัตราที่ 1 ดอลลาร์ = 30 บาท) โดยทุกชาติเมื่อได้สิทธิ์รอบสุดท้าย ฟีฟ่า มอบเงินเตรียมทีมให้ชาติละ 11.5 ล้านดอลลาร์ (สมาคมฟุตบอลแต่ละชาติได้ต่างหากอีกชาติละ 8.5 ล้านดอลลาร์) แชมป์รายการรับ 4 ล้านดอลลาร์ รองแชมป์ 2.6 ล้านดอลลาร์ อันดับ 3 รับ 2 ล้านดอลลาร์ อันดับ 4 รับ 1.6 ล้านดอลลาร์ ถ้าตกรอบ 8 ทีม รับ 1.45 ล้านดอลลาร์ หากจอดรอบ 16 ทีม รับ 1 ล้านดอลลาร์ ส่วนพวกที่รีบกลับบ้านตั้งแต่จบรอบแบ่งกลุ่ม จะได้รับชาติละ 7.5 แสนดอลลาร์

กัปตันโยฮัน