24 ชาติแม่เนื้อนิ่ม เปิดศึกเวิล์ดคัพ ครั้งที่ 8 (ตอนที่ 1)

Photo of author

ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก รอบสุดท้าย ครั้งที่ 8 “ฟีฟ่า วีเมนส์ เวิลด์ คัพ ฟรองซ์ 2019” เปิดฉากห้ำหั่นกันแล้วที่ประเทศฝรั่เงเศส แดนดินถิ่นน้ำหอมลือเลื่อง ระยะเวลาคือตั้งแต่ 7 มิ.ย.-7 ก.ค.

โดยมีเหล่าสาวแกร่ง STRONG WOMEN ดาหน้าประชันเชิงกันทั้งหมด 24 ชาติ รวมทั้งพังสาว “ชบาแก้ว” ทีมชาติไทย ซึ่งประเทศทั้งหมดที่เข้าร่วม แบ่งตามกลุ่ม มีดังนี้
กลุ่ม เอ : ฝรั่งเศส, เกาหลีใต้, นอร์เวย์, ไนจีเรีย,
กลุ่ม บี : เยอรมนี, จีน, สเปน, แอฟริกาใต้
กลุ่มซี : ออสเตรเลีย, อิตาลี, บราซิล, จาไมกา
กลุ่ม ดี : อังกฤษ, สกอตแลนด์, อาร์เจนตินา, ญี่ปุ่น
กลุ่ม อี : แคนาดา, แคเมอรูน, นิวซีแลนด์, เนเธอร์แลนด์
กลุ่ม เอฟ : สหรัฐอเมริกา, ไทย, ชิลี, สวีเดน

นับเป็นทัวร์นาเมนต์ระดับโลก ที่ในอดีตปั้นดาวสุกสกาวมากมาย อาทิ เมีย แฮม (สหรัฐอเมริกา), มาร์ทา (บราซิล), เบอร์กิต พรินซ์ (เยอรมัน) ดังนั้น “Sport Express” ก็ไม่พลาดที่จะนำเสนอเรื่องราวอันน่าสนใจของรายการนี้

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) จัดศึกชิงแชมป์โลกฝ่ายหญิง ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1991 โดยมอบธงเจ้าภาพให้สาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งนั้นสหรัฐอเมริกา คว้าแชมป์หลังเฉือนนอร์เวย์ ในรอบชิงนะเลิศ ต่อมาสวีเดนเป็นเจ้าภาพ ตามด้วยสหรัฐอเมริกา จัด 2 ครั้งต่อเนื่อง จากนั้นกลับไปเป็นจีน แล้วก็ เยอรมนี, แคนาดา และล่าสุด ฝรั่งเศส ส่วนทำเนียบแชมป์มีดังนี้ สหรัฐอเมริกา ปี 1991, นอร์เวย์ ปี 1995, สหรัฐอเมริกา ปี 1999, เยอรมนี ปี 2003, เยอรมนี ปี 2007, ญี่ปุ่น ปี 2011 และ สหรัฐอเมริกา ปี 2015

สำหรับใน “ฟรองซ์ 2019” เว็บไซต์ของเราจะใช้โอกาสนี้แนะนำ 24 ชาติกันพอสังเขป ไล่เรียงลำดับตามอักษรอังกฤษ ดังนี้

อาร์เจนตินา
อัจฉริยภาพน่าตื่นตาในแบบ ลิโอเนล เมสซี หรือตัวรับระดับโลกอย่าง ฮาเบียร์ มาสเคราโน ไม่มีให้เห็นจากฝ่ายหญิงแน่นอน อย่างน้อยก็ในปัจจุบัน ซึ่งด้วยอัตราต่อรองคว้าแชมป์โลก 500-1 เป็นหลักฐานยืนยันคุณภาพของ อาร์เจนตินา อย่างชัดเจนว่าตำต้อยกว่า อังกฤษ, สกอตแลนด์ และ ญี่ปุ่น ซึ่งร่วมกลุ่มเดียวกัน

สถิติน่าสนใจ : แนวรุกของแม่เนื้อนิ่ม “ฟ้า-ขาว” น่าอเนจอนาถมาก ถ้ายังแก้ไขไม่ได้ ก็คงล้มเหลวไม่ต่างจากรอยสุดท้ายเมื่อปี 2003, 2007 ที่เรียกใบแดง 2 ใบเท่ากับจำนวนประตูที่ยิงได้

ความจริงควรรู้ : อาร์เจนตินา สภาพการเมือง-เศรษฐกิจ อาจไม่เลวร้ายเท่า เวเนซุเอลา แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความวุ่นวาย ส่งผลกระทบต่อวงการกีฬาของพวกเขาไม่น้อย กว่าจะเอาชีวิตรอดมาถึงฝรั่งเศส ก็ทุลักทุเลไม่น้อย

ออสเตรเลีย
ออสเตรเลียจัดเป็นม้านอกสายตาในระดับใกล้เคียง อาร์เจนตินา ถึงกระนั้นฟุตบอลหญิงออสเตรเลีย ก็มีผลงานล้ำหน้าฝ่ายชายอย่างเห็นได้คมชัด HD โดยสามารถทะลุเข้า 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลก 3 ครั้งหลังสุด ส่วนครั้งนี้การอยู่กลุ่มเดียวกับ บราซิล, อิตาลี, จาไมกา ต้องบอกว่าพวกเธอมีลุ้นไปไกลกว่ารอบแบ่งกลุ่ม

สถิติน่าสนใจ : ขุนพลหลักของ ออสเตรเลีย ก็คือ แซแมนธา “แซม” เคอร์ กัปตันทีมและเป็นกองหน้าฝีเท้าจัดจ้าน ด้วยวัยเพียง 25 ปี เธอรั้งตำแหน่งดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของฟุตบอลลีกออสเตรเลีย “ออสเตรเลีย ดับเบิลยู-ลีก” ซึ่งคุณภาพของเธอบอกได้เลยว่า “ของจริง” เมื่อย้ายไปค้าแข้งในฟุตบอลลีกสหรัฐอเมริกา “เอ็นเอสดับเบิลยูแอล” มาตรฐานก็ยังไม่ตก สามารถระเบิดตาข่ายให้ ชิคาโก เรดสตาร์ อย่างบ้าคลั่ง

ความจริงควรรู้ : แมรี ฟาวเลอร์ กองหน้าอีกคนของ ออสเตรเลีย จัดว่าเป็นดาวรุ่งที่ควรจับตา เพราะถูกเรียกติดทัพขณะอายุเพียง 16 ปี ทำให้เธอกลายเป็นผู้เล่นอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย

บราซิล
บราซิล ครองแชมป์โลกฟุตบอลชาย 5 สมัย เป็นความยิ่งใหญ่เหนือใคร ทว่าในประเภทหญิง เคยทำผลงานดีสุดคือรองแชมป์โลก 1 สมัยในปี 2007 โดยเข้าชิงชนะเลิศแต่แพ้ เยอรมนี 0-2 ส่วนปัจจุบันอันดับโลกก็หลุดจากเลขตัวเดียว

สถิติน่าสนใจ : มาร์ทา คือผู้เล่นความหวังสูงสุด ครองสถิติทำลายตาข่ายในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย สูงสุดตลอดกาลด้วยจำนวน 15 ประตูจาก 17 นัด ทั้งยังถูกเลือกเป็นผู้เล่นยอดเยี่ยม ฟีฟ่า 6 สมัย แบ่งเป็น 5 สมัยซ้อนช่วงปี 2006-2010 จากนั้นเว้นวรรคมาได้อีกครั้งในปี 2018

ความจริงควรรู้ : บราซิล ชุดนี้นำโดย “3 ดาวค้างฟ้า” ได้แก่ ฟอร์มิกา, มาร์ทา, คริสเทียเน ซึ่งอายุรวมกัน 108 ปี และในวัย 41 กะรัต ฟอร์มิกา กำลังจะกลายเป็นผู้เล่นคนแรก (นับรวมทั้งชาย-หญิง) ที่เข้าร่วมฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย 7 สมัย

แคเมอรูน
ฟุตบอลชาย แคเมอรูน เคยสร้างความตื่นตะลึงเมื่อเปิดสนามฟุตบอลโลก ปี 1990 ด้วยการทุบ อาร์เจนตินา ซึ่งมีศักดิ์ศรีแชมป์เก่าจนสลบเหมือด เรียกว่าเปิดตัวสู่สากลมาหลายปีแล้ว ขณะที่ฝ่ายหญิง เพิ่งสามารถนำธงชาติเข้าสู่มหกรรมรอบสุดท้าย เมื่อปี 2015 นี้เอง แต่ก็สร้างความประทับใจทันทีเมื่อเป็นแอฟริกาชาติแรก ที่เล็ดรอดเข้ารอบน็อคเอาต์ ซึ่งพวกเธอหวังว่าที่ฝรั่งเศส จะสร้างผลงานที่ดีขึ้นไปอีก

สถิติน่าสนใจ : “สิงโตแห่งกาฬทวีป” แคเมอรูน ผ่านศึกระดับชาติรอบสุดท้าย 14 นัด และถ้านับกันเฉพาะแค่ในเวลาปกติ 90 นาที พวกเธอแพ้เพียง 2 นัด
ความจริงควรรู้ : แม่เนื้อนิ่มแคเมอรูน มีลักษณะเด่นคือหัวใจสู้ที่ไม่เคยท้อถอยหรือท้อแท้ แข็งแกร่งราวมีปอดทำด้วยเหล็ก จึงทำให้พวกเธอถูกยกย่องว่าเป็น “the Indomitable Lionesses” เหล่าสิงห์สาวผู้ไม่เคยสิ้นหวัง

แคนาดา
แคนาดา เพิ่งเป็นเจ้าภาพฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก ปี 2015 ซึ่งผลงานเข้า 8 ทีม รวมทั้งเหรียญทองแดง โอลิมปิกเกมส์ ปี 2016 ถือว่ามีการพัฒนาที่ไม่ธรรมดา และจนถึงตอนนี้พวกเธอไร้พ่าย 9 นัด อย่างไรก็ตาม การยกระดับเข้าสู่กลุ่มลุ้นแชมป์ ยังเร็วเกินไปสำหนับเหล่าสาวจากดินแดนต้นเมเปิล

สถิติน่าสนใจ : คริสทีน ซินแคลร์ กองหน้ากัปตันทีม เป็นกองหน้าฝีเท้าฉกาจอย่างแท้จริง โดยตอนนี้ซัดให้ แคนาดา ไปแล้ว 181 ประตู โดยเธอต้องการอีกเพียง 4 ประตู เพื่อขึ้นครองตำแหน่ง ดาวยิงสูงสุดตลอดกาลในระดับชาติ

ความจริงควรรู้ : ก็ยังเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับ คริสทีน ซินแคลร์ โดยเธอติดทีมชาติไปแล้ว 282 ครั้ง มากกว่าจำนวนกาติดทีมชาติของผู้เล่น จาไมกา ทั้งหมดรวมกันเสียอีก

ชิลี
ชิลี ไม่ได้เข้าร่วมรอบสุดท้ายเมื่อปี 2015 ซึ่งหลังจากนั้นฟุตบอลหญิงของประเทศก็ถูกหมางเมิน ถึงขั้นไม่มีการลงสนามเลยเกือบ 3 ปี อย่างไรก็ตาม ตอนนี้พวกเธอกลับมาแล้ว พร้อมพาตัวเข้าไปอยู่ใน 40 อันดับแรกของการจัดอันดับโดย ฟีฟ่า

สถิติน่าสนใจ : ชิลี ชุดนี้ต้องบอกว่าเป็นชุดปฎิรูปอย่างแท้จริง ผู้เล่นวัยเก๋าประสบการณ์สูงเหลือไม่มาก ส่วนใหญ่เน้นผู้เล่นที่สภาพร่างกายสด จิตใจฮึกเหิม โดยมีดาวรุ่งที่สมควรจับตามองก็คือ เอลิซา ดูรัน วัย 17 ปี ที่ถูกเรียกติดทีมชาติครั้งแรก

ความจริงควรรู้ : ในรายการนี้มีผู้เล่นเพียงคนเดียวที่ความสูงไม่ถึง 5ฟุต (150 เซนติเมตร) ซึ่งคนนั้นก็คือ ฮาบีรา เกรซ หนึ่งในขุนพลทีมชาติชิลี โดยเธอมีความสูง 4 ฟุต 10 นิ้ว

กัปตันโยฮัน