สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้ส่งจดหมายแจ้งถึงชาติสมาชิก ถึงการเรียกตัวนักกีฬา ไปเล่นให้กับทีมชาติตามโปรแกรมการแข่งขันช่วงฟีฟ่าเดย์ เดือนมีนาคมและเมษายนที่กำลังจะมาถึง โดยอนุญาตให้สโมสรต้นสังกัด และตัวนักกีฬาเอง มีสิทธิ์ปฏิเสธการถูกเรียกตัวในครั้งนี้ได้ หลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)
สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ล่าสุด องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็น “การระบาดใหญ่ (pandemic)” หลังจากเชื้อลุกลามไปใน 123 ประเทศและดินแดนทั่วโลก และมีผู้ติดเชื้อกว่า 130,000 คนนั้น ทำให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) มีความห่วงใยเกี่ยวกับนักกีฬา, ผู้ฝึกสอน, เจ้าหน้าที่ รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ในการแข่งขันระดับทีมชาติ ตามปฏิทินฟีฟ่าเดย์ เดือนมีนาคมและเมษายน ที่กำลังจะมาถึง ทางสำนักงานคณะกรรมการของสหพันธ์ฯ จึงได้มีการออกนโยบายดังกล่าว
พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เผยว่า “ฟีฟ่าได้ออกหนังสือเวียนมาล่าสุด เพื่อประกาศนโยบายให้กับชาติสมาชิกได้ทราบ โดยมีอยู่ 7 ข้อด้วยกัน”
“ซึ่งทางสมาคมฯ เตรียมส่งข้อมูลเหล่านี้ให้กับสโมสร โดยขอให้สโมสรปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ของทางรัฐในการป้องกัน และเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับผู้เล่นในสังกัด, ผู้ฝึกสอน, เจ้าหน้าที่ รวมถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”
“ในส่วนของไทยลีก ที่จะกลับมาแข่งขันอีกครั้ง ในวันที่ 18 เมษายน ทางสมาคมฯ กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะมีการประกาศให้ทราบอีกครั้ง ว่าจะสามารถให้แฟนบอลเข้าชมได้หรือไม่”
สำหรับนโยบายของฟีฟ่า ในการเรียกตัวผู้เล่นจากสโมสร ไปแข่งขันกับทีมชาติ ในช่วงปฎิทินฟีฟ่าเดย์ เดือนมีนาคม – เมษายน มีดังต่อไปนี้
1. หากมีการเรียกผู้เล่น จากสโมสรใดก็ตาม กลับไปทำภารกิจให้กับทีมชาติ สโมสรสามารถตอบรับหรือปฏิเสธได้ ไม่ถือเป็นข้อบังคับ
2. หากในกรณีที่สโมสรตกลงปล่อยตัวผู้เล่น ทางผู้เล่นก็มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธการเรียกตัวได้
3. การตัดสินใจของสโมสร และผู้เล่นในกรณีนี้ จะไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาโทษทางวินัย
4. หากสมาคมกีฬาฟุตบอลของประเทศสมาชิก ไม่สามารถส่งตัวนักกีฬากลับสู่สโมสรได้ตามเวลาที่กำหนด อันเนื่องมาจากเหตุผลของโรคระบาด สมาคมฯ และผู้เล่น จะไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาโทษทางวินัย
5. คำสั่งดังกล่าว จะสามารถใช้ในฟีฟ่าเดย์ช่วง 23-31 มีนาคม สำหรับฟุตบอลชาย และ 6-15 เมษายน สำหรับฟุตบอลหญิง รวมถึงฟุตซอล
6. ฟีฟ่าเห็นควรให้มีการเลื่อนการแข่งขันในช่วงฟีฟ่าเดย์เดือนมีนาคมและเมษายน ออกไปก่อน แต่ทั้งนี้ การตัดสินใจสุดท้ายเป็นของผู้จัดการแข่งขัน ส่วนเกมอุ่นเครื่อง/กระชับมิตร การตัดสินใจขึ้นอยู่กับสมาคมฟุตบอลของประเทศสมาชิกที่แข่งขันในแมตช์นั้นๆ
7. แมตช์การแข่งขันอย่างเป็นทางการที่ถูกเลื่อนไป จะมีการกำหนดวันแข่งขันใหม่ จากฟีฟ่าและสมาพันธ์ฟุตบอลในทวีปของทีมที่เกี่ยวข้อง