สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดการประชุมคณะกรรมการ ยกร่าง ปรับปรุง แก้ไขระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพและกีฬาฟุตบอลทุกรายการ ระเบียบการแข่งขันกีฬาฟุตซอล และกีฬาฟุตบอลชายหาด ครั้งที่ 6/2563
โดยมี พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน พร้อมด้วย นายศุภสิน ลีลาฤทธิ์ เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการเข้าร่วมประชุม อาทิ นายพาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมฯ, นายยงยศ พึ่งธรรม รองเลขาธิการฝ่ายกฎหมาย, นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการแข่งขันบริษัท ไทยลีก จำกัด, มร.เบนจามิน ตัน ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการคลับไลเซนซิง ,นายสุรเดช อนันทพงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทีม ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด, นายธัญญะ วงศ์นาค ผู้จัดการทีม โปลิศ เทโร เอฟซี , นายยศวัจน์ ดำรงกุลวิศิษฐ์ และ นายเศรษฐกรชัย ชื่นตา ตัวแทนจากฟุตซอลทีมชาติไทย , นายไพฤทธิ์ ต้านไพรี หัวหน้าฝ่ายควบคุมการแข่งขันบริษัท ไทยลีก จำกัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการฝ่ายแพทย์ ประกอบด้วย น.อ.(พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการฝ่ายแพทย์และวิทยาศาสตร์การกีฬาสมาคมฯ ,นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า ในวันนี้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ได้เรียกประชุมเร่งด่วนเพื่อหาแนวทาง หลังจากที่ทราบว่า ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กำหนดนโยบาย ให้บุคลากรทุกคนที่เข้าสนาม ต้องตรวจโควิด-19 ก่อนการแข่งขัน 72 ชั่วโมงทุกครั้งเป็นเวลา ยอมรับว่า ทางสมาคมไม่ทราบมาก่อน เนื่องจากไม่มีระบุไว้ในคู่มือของทาง ศบค. อีกทั้งเพิ่งมารับทราบจากการกีฬาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 ก.ค.63
การตรวจโควิด-19 ก่อนการแข่งขัน 72 ชั่วโมง ในทุกๆนัด ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากหากทำเช่นนั้น ทางสมาคมฯ จะไม่สามารถจัดโปรแกรมไทยลีกกลางสัปดาห์ได้เลย เพราะเงื่อนไขที่ต้องตรวจเชื้อก่อนการแข่งขัน 3 วัน หากมีการจัดโปรแกรมกลางสัปดาห์ จะทำให้การแข่งขันเหลื่อมวันไปเรื่อยๆ และทางเจ้าของลิขสิทธิ์ก็จะไม่สามารถจัดผังถ่ายทอดสดได้ด้วย
ประเด็นถัดมา คือ หากต้องมีการตรวจโควิด-19 ทุกครั้ง เกรงว่าจะมีผลกระทบต่อทีมในระดับลีกล่าง ที่มีงบประมาณการทำทีมไม่มาก ดังนั้น จึงเตรียมเสนอต่อการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณตรวจโควิด-19 จากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของสโมสร มิฉะนั้น อาจมีบางสโมสรที่ไม่มีงบตรวจโควิด-19 จนต้องประกาศถอนทีม
ประเด็นสุดท้าย ทางสมาคมฯ จะหารือถึงจำนวนครั้งในการตรวจเชื้อ เพราะในลีกต่างประเทศนั้น ไม่ได้ทำการตรวจเชื้อทุกครั้งที่ลงทำการแข่งขัน แต่จะใช้วิธีการตรวจเชื้อเพียง 1 รอบ ก่อนแข่งขัน จากนั้น หากสถานการณ์มีความเสี่ยง จึงกลับมาตรวจอีกครั้ง หรือบางลีกในยุโรป จะตรวจทุก 2 สัปดาห์ ดังนั้น จึงต้องสอบถามความชัดเจนอีกครั้ง
ทั้งนี้ ทางสมาคมจะนำข้อสรุปทั้งหมดที่กล่าวมา ไปหารือกับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อให้ กกท. นำไปหารือกับ ศบค. เนื่องจากมองว่า กีฬาฟุตบอล ในแง่ความเป็นจริงแล้ว ไม่สามารถที่จะทำตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ทั้งหมด และขอให้พิจารณาความเหมาะสมในประเด็นนี้อีกครั้ง