ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 กำหนดให้ คณะกรรมการกีฬาอาชีพ กำหนดชนิดหรือประเภทกีฬาอาชีพ ซึ่งปัจจุบัน คณะกรรมการกีฬาอาชีพ ได้กำหนดกีฬาอาชีพ ไว้ 13 ชนิดกีฬา ได้แก่ 1.ฟุตบอล 2.กอล์ฟ 3.เจ็ตสกี 4.วอลเลย์บอล 5.ตะกร้อ 6.โบว์ลิ่ง 7.จักรยานยนต์ 8.จักรยาน 9.รถยนต์ 10.สนุกเกอร์ 11.แบดมินตัน 12.เทนนิส 13.บาสเกตบอล
สำหรับกีฬาที่ถูกบรรจุเข้าเป็นกีฬาอาชีพ มีสิทธิ และมีช่องทางที่จะขอความช่วยเหลือในด้านต่างๆ จากคณะกรรมการกีฬาอาชีพได้
แต่ละกีฬาก็มีการเติบโตที่ต่างกันไป โดยนอกจากคณะกรรมการกีฬาอาชีพ เป็นผู้ดูแลแล้ว โดยมีมือที่คอยประคับประคอง ก็คือ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)
ด้าน นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางกกท.เอง ก็ดูแลแผนยุทธศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งกีฬาอาชีพ ก็มีนิยามตามกฎหมายอยู่แล้ว คือ 1.มีมาตรฐาน 2.มีรายได้ ทั้ง นักกีฬา บุคลากร ผู้จัดการแข่งขัน และ 3.เป็นชนิดกีฬาที่ คณะกรรมการกีฬาอาชีพ กำหนด
“รองน้อย” กล่าวว่า จาก 13 ชนิดกีฬา ก็มีหลายกีฬาที่เติบโตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ มีศักยภาพสูง
“ในการประเมิน เราไม่ได้คิดเอง แต่มีหลักเกณฑ์การประเมิน เอาแต่ละกีฬามาเทียบกับหลักเกณฑ์”
“ถ้าจะแบ่งกีฬาเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ก็คือประเภททีม และ บุคคล”
นายทนุเกียรติ ได้กล่าวต่อไปว่า กีฬาอาชีพที่โดดเด่น สำหรับประเภททีม ฟุตบอล กับ วอลเลย์บอล ส่วนประเภทบุคคล คือ กอล์ฟ กับ เทนนิส ที่มีศักยภาพ เป็นกีฬาอาชีพที่ยั่งยืน
“จากการประเมินตามหลักเกณฑ์แล้ว ทั้ง 4 ชนิด ถือว่ามีศักยภาพ เป็นกีฬาอาชีพที่ยั่งยืนได้ ยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเอง นักกีฬามีรายได้ ที่มากพอยึดเป็นการประกอบอาชีพ ไปแข่งขันแล้วได้รางวัล การที่จะเป็นกีฬาอาชีพที่ยั่งยืน ไม่ใช่แค่มีรายได้เท่านั้น แต่ต้องมีรายได้เพียงพอ ที่จะอยู่ได้ อย่างเช่นถ้าเป็นนักกีฬา ก็มีเงินเดือนมากพอ ไม่ใช่แค่หมื่นบาท หรือหมื่นต้นๆ”
หลายกีฬา มีความนิยมจากรอบด้าน แฟนกีฬามีมากพอ สปอนเซอร์ ผู้สนับสนุนก็ยินดีจ่ายเงินให้ เพราะความป๊อปปูลาร์ เป็นรายได้ที่หล่อเลี้ยงตัวเอง เหมือนเป็นบริษัท
อย่างไรก็ตาม ก็มีกีฬาที่ยังต้องประคับประคอง “คณะกรรมการกีฬาอาชีพ ก็มีหลักเกณฑ์ คืออยากให้กีฬาอาชีพมาสร้างเศรษฐกิจชาติ เกิดรายได้หมุนเวียนภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง”
“อีกทางหนึ่ง ตัวกีฬาที่ไม่เข้มแข็ง เมื่อประเมินแล้ว ขาดอะไรไป เราก็จะเข้าไปช่วยไข ซึ่งต้องย้ำว่า การประเมินนี้ ไม่ได้ใช้ความรู้สึก แต่มีหลักเกณฑ์ เราดูหมด ทั้ง นักกีฬา, บุคลากรที่เกี่ยวข้อง, ผู้จัดการแข่งขัน”
“หลายปีนี้ ก็ได้ติดตามมาโดยตลอด เก็บข้อมูลมาหลายปี ชนิดกีฬาที่ไม่ชัดเจน หรือไม่ได้ตามเกณฑ์นั้น ก็จะต้องให้ปรับปรุงแก้ไข ตามจุดที่ขาดหายไป ส่วนขั้นตอนอื่นที่มากกว่านั้น ต้องอยู่ที่ คณะกรรมการกีฬาอาชีพ พิจารณา เรามีหน้าที่แค่รวบรวมข้อมูล สถิติต่างๆ เพื่อนำเสนอ”
วงการกีฬาอาชีพไทย กำลังก้าวไปอย่างต่อเนื่อง โดยที่ กกท.เป็นเหมือนฝ่ายที่คอยประคับประคอง ให้เดินไปได้
ขณะเดียวกัน แต่ละกีฬาก็ต้องมีแผนงานของตัวเองที่แข็งแกร่ง และดีพอ เพื่อให้กีฬาอาชีพไทย เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นอีกส่วนในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ “รองน้อย” ทนุเกียรติกล่าวย้ำ