“ทรัสต์กอล์ฟ” เกิดขึ้นและทำให้คนในแวดวงกีฬากอล์ฟได้รู้จักในช่วงเวลาไม่นาน แม้เส้นทางเริ่มต้นจะเต็มไปด้วยขวากหนามสาหัสเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด ด้วยโควิด 19 แต่อุปสรรคเหล่านั้นกลับถูกก้าวข้ามผ่านด้วยความคิดและจิตใจที่ต้องการจะสร้างสรรค์กีฬากอล์ฟในเมืองไทยและพัฒนาไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ดร.ปริญ สิงหนาท ผู้ก่อตั้งทรัสต์กอล์ฟ ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกซ้อมและพัฒนาศักยภาพการตีกอล์ฟด้วยเทคโนโลยีระดับโลกที่ทันสมัยที่สุด ผู้ที่ใช้เวลาศึกษาเทคโนโลยีรูปแบบต่าง ๆ และคิดค้นโปรแกรมด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพการเล่นกอล์ฟของนักกอล์ฟรุ่นใหม่ของไทยสู่เวทีระดับอาชีพและระดับโลก
ไม่เพียงเท่านั้น ทรัสต์กอล์ฟ ได้สร้างนักกอล์ฟตั้งแต่ระดับเยาวชนไปจนถึงอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่แคดดี้, จัดการแข่งขันทรัสต์กอล์ฟทัวร์ ตลอดจนให้การสนับสนุนกีฬากอล์ฟทุกภาคส่วน และมีแผนการสร้าง “ทรัสต์กอล์ฟ ยูนิเวอร์ซิตี้” แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อที่จะขยายไปทั่วโลก อะไรที่ทำให้กีฬากอล์ฟเมื่อมาอยู่ในมือของ “ทรัสต์กอล์ฟ” แล้วไม่ใช่แค่กอล์ฟธรรมดา
นักฟิสิกส์พัฒนากอล์ฟด้วยเทคโนโลยี
“ดิฉันไม่ใช่นักกีฬาแต่เป็นนักฟิสิกส์ ชอบเล่นกีฬาไม่กี่ประเภทอย่าง ยิงปืน กอล์ฟ และเปตอง คือเป็นกีฬาที่ไม่เคลื่อนที่มาก จะสังเกตเห็นได้ว่าทั้ง 3 อย่างเป็นกีฬาที่ไม่เคลื่อนที่มากนัก ตัวจะอยู่นิ่ง ๆ และยิงไปที่เป้า แต่ในฐานะนักฟิสิกส์เมื่อมองกีฬาแล้วมีความสนใจว่า เราจะพัฒนาเด็กไทย พัฒนานักกีฬาไทยอย่างไรด้วยเทคโนโลยี”
“ยกตัวอย่างการฝึกทักษะกีฬาให้คน ที่เขาบอกว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” มีสโลปทางซ้าย ทางขวา เด็กมักจะมองไม่ออก แยกไม่ได้ว่า 1 เปอร์เซ็นต์ 2 เปอร์เซ็นต์ หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ จึงอยากจะเปลี่ยนข้อจำกัดของตา หรือความรู้สึกของมนุษย์ ด้วยการเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการฝึกสอน ช่วยโค้ชที่จะฝึกนักกีฬาด้วยการให้ข้อมูล หรือใช้เครื่องมือต่าง ๆ มากขึ้น และสามารถนำมาวางแผนประกอบการฝึกซ้อมได้”
“เมื่อเราพัฒนานักกีฬาแล้ว เรามีนักกีฬาเก่ง ๆ จะไปเล่นได้ที่ไหน ถ้าเล่นในบ้านก็จะวนเวียนกันอยู่แค่นี้ แล้วนักกีฬาเก่ง ๆ ที่เราสร้างขึ้นมานั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเก่งแค่ไหน เมื่อเด็กยังไม่เคยไปเล่นในระดับโลก เราจึงสร้างโอกาสให้มีเวทีในการพัฒนาเด็กขึ้นมาต่อยอดให้มีโอกาสไปเล่นต่างประเทศ หรือ นำนักกีฬาต่างประเทศมาแข่งในบ้านเรา เพื่อจะได้รู้ว่าเราอยู่จุดไหน ในการเป็นนักกอล์ฟ ระดับเอเชียนทัวร์ หรือ เลดีส์ ยูโรเปี้ยนส์ทัวร์”
ต้องสร้าง “ประชากรกอล์ฟ”
“สิ่งที่ทรัสต์กอล์ฟต้องการจะทำที่สุด คือ หนึ่ง การสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อสร้างประชากรกอล์ฟให้มากขึ้น สอง พัฒนาทักษะเด็กให้เร็วที่สุด เราไม่มีเวลา 20 ปี มันนานเกินไป ขอ 2 ปี แล้วเทิร์นโปร เราอยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น และ สาม คือ การสร้างโอกาส”
“เริ่มจากการที่ “ทรัสต์กอล์ฟ” ต้องการเพิ่มประชากรกอล์ฟ เพราะเมื่อไหร่ที่มีประชากรกอล์ฟขึ้น มันก็จะต่อยอดไปสู่ทุกธุรกิจ และทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับกอล์ฟ สิ่งที่สนใจมากที่สุดคือ เทคโนโลยี ด้วยความเป็นนักฟิสิกส์ และชอบที่จะใช้เทคโนโลยี เอาเข้ามาจับกับกีฬา ซึ่งในกีฬากอล์ฟนั้นมีหลายเทคโนโลยี ที่สามารถจะนำเข้ามาเพื่อพัฒนานักกีฬาได้”
“ทฤษฎีตั้งต้น เรามีสมมุติฐานว่า ถ้าเราเอาเทคโนโลยี เข้ามาจับการพัฒนานักกีฬาในประเทศ บวกกับ เรามีโอกาสที่จะให้นักกีฬาไปแสดงฝีมือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เราจะมี “ดาวดวงใหม่” เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้นอาจจะ 1 ปี 2 ปี หรืออย่างมาก 3 ปี ไม่ใช่ 7 ปี หรือ 10 ปี เราเริ่มมาได้ 2-3 ปีแล้ว และมีความพยายามที่จะเดินไปถึงจุดนั้น”
“สิ่งที่เราต้องการทำ ไม่ใช่การสร้างนักกอล์ฟระดับท็อป 100 เพราะนั่นคือ นักกอล์ฟที่มีอยู่เพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่เราสนใจ 99 เปอร์เซ็นต์ที่เหลืออยู่ เราอยากทำให้ทุกคนได้เห็นว่า กอล์ฟสร้างโอกาสได้จริง ๆ ยกตัวอย่างเช่น สถาปนิกที่ตีกอล์ฟ จะออกแบบสนามกอล์ฟด้วยความเข้าใจ, วิศวกรที่ตีกอล์ฟ ก็จะพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เกี่ยวกับกอล์ฟ โดยไม่ต้องใช้นักกอล์ฟมาทดลอง แต่วิศวกรที่ตีกอล์ฟสามารถทดลองได้ด้วยตัวเอง หรือถ้าจะออกแบบ simulator เครื่องจำลองการเล่นกอล์ฟด้วยคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง ก็สามารถจะรู้ได้ว่า ต้องทำแบบไหนถึงจะสนุก”
นักกายภาพ ก็จะรู้และเข้าใจสรีระในการพัฒนาร่างกาย, นักจิตวิทยา จะเข้าใจความรู้สึกของนักกอล์ฟ ไม่ว่าจะเป็นครู หรือแพทย์ ทุกอาชีพที่มีอยู่ แค่ใส่กอล์ฟเข้าไป อย่าคิดว่ากอล์ฟเป็นกีฬาหรู หรือเข้าถึงยาก จริง ๆ แล้วกอล์ฟเข้าถึงได้ง่าย แค่เรารู้จักว่า ดูกอล์ฟแล้วสนุก เข้าใจ จะสามารถต่อยอดอาชีพของตัวเองไปได้อีกมากมาย
นี่คือพันธกิจ แต่สิ่งนี้เรายังทำไม่ได้ เราอยากให้กอล์ฟไปอยู่ในทุก ๆ โรงเรียนด้วยซ้ำไป เราสอนเทเบิลเทนนิส, วอลเลย์บอล, บาสเกตบอลได้ ทำไมเราไม่สอนทฤษฎีกอล์ฟ หรือ กฎ กติกากอล์ฟง่าย ๆ ให้เด็ก ๆ ทุกโรงเรียนได้เข้าใจ ซึ่งไม่น่าจะยาก เราอยากให้เกิดแบบนั้นขึ้น ซึ่งโครงการที่อยากจะทำที่สุดกลับทำได้ช้าที่สุด ก็คือ กอล์ฟโรงเรียน
กำเนิดกอล์ฟรูปแบบผสม
“ทรัสต์กอล์ฟ เปิดขึ้นมาในปี 2019 ก็เจอโควิด 19 มาถึงปี 2020 ต้นปีก็ถูกปิด 3 เดือน เพราะสถานปฏิบัติการที่ อิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง เป็นอาคารในร่ม สถานฟิตเนส และออกกำลังกาย อาจจะเอื้อต่อการแพร่ระบาด เมื่อถูกปิดแบบนั้น ถ้าทำในร่มไม่ได้ เราต้องออกจากกรอบ ทำหนึ่ง ทำสอง แล้วทำสามไม่ได้ ขอข้ามไป “ทำสิบ” เลยแล้วกัน เราเปิดประตูบ้านไว้รอ เราขอไปสร้างโอกาสก่อนด้วยการจัดรายการแข่งขันกอล์ฟต่าง ๆ ที่เรามีในวันนี้ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ”
“เดิมเราคิดแต่แรกว่า จะขอสร้างคนก่อน สร้างนักกีฬาแล้วจะสร้างรายการแข่งขันทีหลัง แต่เมื่อโควิด ทำให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ นักกอล์ฟของทรัสต์กอล์ฟ ต้องไปขายของออนไลน์ ขายคุกกี้ ขนมเค้ก ข้าวมันไก่ เพราะเขาไม่มีการแข่งขัน เรายังช่วยสั่งของเพื่อเอาไปแจกจ่ายให้ตามโรงพยาบาล 3-4 หมื่นบาทต่อวัน นักกอล์ฟต้องมาขายของเป็นพ่อค้าแม่ค้าเพราะไม่มีการแข่งขัน รายได้เขามาจากการแข่งขัน เราจึงต้องทำทัวร์นาเมนท์ขึ้นมาให้เด็กได้แข่งก่อน”
เมื่อกอล์ฟมีชาย-หญิง ก็เริ่มที่ “ไทยแลนด์ มิกซ์” ให้ทุกคนแข่งกันได้ สนามเดียวกัน เงินรางวัลเดียวกัน เด็ก ๆ นักกีฬาก็ไปซ้อม เพื่อมาแข่ง แต่โควิดยังมีอยู่ ต้องมีกฎระเบียบให้แข่งขันอย่างปลอดภัย ตอนนั้นการตรวจเข้มข้นมาก ก็ให้ทุกคนตรวจฟรี หมดไป 2 ล้านบาท ถือว่าหนักมากแต่อยากทำ เพราะอยากให้ทุกคนเห็นว่ามันจัดได้จริง ๆ ถ้ามีการสนับสนุน และมีการป้องกัน เงินรางวัล 3 ล้านบาท นักกีฬาชาย-หญิง ก็แบ่ง ๆ กันไป
“ในตอนแรกก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บ้างในการเอานักกีฬาชายกับหญิงมาแข่งขันกัน แต่เราคิดแค่ว่า ไม่อยากให้นักกีฬาร้างสนาม สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อนักกีฬาชาย-หญิงมาแข่งกอล์ฟกันในรายการ “ไทยแลนด์มิกซ์” บรรยากาศก็ซอฟท์ลง รีแลกซ์มากขึ้น กอล์ฟระยะ 100 หลา นักกีฬาชายหรือหญิงก็ทำสกอร์ได้เท่ากัน”
“นักกอล์ฟจะต้องสู้กับความรู้สึกของตัวเอง นักกีฬาชายได้เห็นความละเอียดของผู้หญิง มันจะมีโมเมนต์ที่เห็นกันและกัน นักกีฬาหญิงแข่ง 4 วัน ก็ต้องฝึกตัวเองเพิ่มขึ้น มีความพร้อมมากขึ้น นักกอล์ฟมีความเป็นพี่น้อง เป็นเพื่อนกันมากขึ้น ทุกคนรู้จักกันหมด ไม่ว่าชาย หญิง เด็ก คนแก่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ทุกคนคือนักกอล์ฟแค่นั้นเอง”
“เป้าหมายของทรัสต์กอล์ฟตั้งแต่ปี 2019 คือ การจัดการแข่งขันกอล์ฟ “เวิลด์ มิกซ์ – World Mixed” ชิงเงินรางวัล 10 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่สถานการณ์ต้องปิดประเทศเพราะโควิด มันก็ไม่เกิดขึ้น ทำให้เกิด ไทยแลนด์ มิกซ์ ขึ้นมาแล้วก็ต่อยอดไปได้ แต่เป้าหมาย เวิร์ล มิกซ์ ก็ยังอยู่เหมือนเดิม เราเรียนรู้ที่จะพัฒนาอย่างไร ด้วยการใช้สถานการณ์โควิดให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นคือ การสร้างทางเดินมากขึ้น เพื่อให้มีช่องทาง เปิดโอเพ่นให้นักกีฬาทุกคนได้ควอลิฟาย ไม่ว่าจะเล่นในรายการไหนของโลก เราไม่อยากให้แบ่งหญิง ชาย ไม่ว่า จูเนียร์ ซีเนียร์ พีจีเอ แอลพีจีเอ ทุกคนสามารถมาแข่งขันรายการของทรัสต์กอล์ฟได้”
“เราไม่อยากให้แบ่งเพศ ไม่แบ่งว่าเป็นเด็ก หรือซีเนียร์ อยากให้เป็นแค่ “กอล์ฟ” ทุกคนเท่าเทียมกัน”
สปอนเซอร์พูล 100 ล้าน
ดร.ปริญ ได้กลายเป็นคนในวงการกีฬากอล์ฟไปแล้ว มองว่า กีฬากอล์ฟในประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากในการพัฒนา
“เยาวชนรุ่นใหม่นี่แทบไม่ต้องรอ 7 ปี ที่จะได้ทัวร์การ์ด มันมีความหลากหลายมาก หมายถึงว่า เราเริ่มเทิร์นโปร ไปแข่งเอเชียนทัวร์ เจแปนทัวร์ ยูโรเปี้ยนทัวร์ พีจีเอ ตอนนี้แตกไปเป็นซีรีส์มากมาย ถือว่าเป็นปีของกอล์ฟ เรามองว่าเด็กไทยศักยภาพสูงมาก สามารถขึ้นลีดเดอร์บอร์ดได้ เด็กไทยนั้นไม่แพ้ชาติใดในโลก เรามีของดีอยู่ในมือมาก กอล์ฟเป็นกีฬาที่สร้างโอกาสให้ประเทศไทยอย่างมากจริง ๆ”
“เรามีนักกอล์ฟที่มีชื่อเสียงมาก อยู่ที่เราจะสนับสนุนอย่างไร ก็คือการให้โอกาสนักกอล์ฟทุกคนส่วนใหญ่ขาดสปอนเซอร์ ถ้าเราสามารถทำ “สปอนเซอร์พูล” ขึ้นมา เราต้องการแค่ 1 ล้านบาทจาก 100 องค์กร หรือ 5 แสนบาทจาก 200 องค์กร หรือ 5 หมื่นบาท จาก 2,000 องค์กร ใส่เงินลงขันมาก็จะได้ 100 ล้านบาท เราคิดว่า ปีนี้ เป้าหมายคือ เราจะมีนักกอล์ฟในพีจีเอ 5 คน แอลพีจีเอ 15 คน ถ้าเราจะทำอย่างนั้น เราจะต้องเตรียมนักกีฬากี่คน ต้องใช้เท่าไหร่ต้องตั้งไว้เลย เพื่อพาให้เขาไปถึงฝัน ด้วยการส่งผ่านเข้าไปจนได้ทัวร์การ์ด หรือสร้างเส้นทางต่อที่เขาจะไปถึงโอกาสได้เอง”
“สปอนเซอร์พูล” เป็นไปได้แน่นอน ในประเทศไทยมีองค์กรมากมายที่อยากจะสนับสนุนกีฬา อาจจะมีข้อตกลงกับนักกีฬาไปเลยว่า ถ้าชนะแล้วได้เงินรางวัลกลับมา ขอ 20 เปอร์เซ็นต์กลับมาเป็นกองทุนให้น้อง ๆ รุ่นต่อไป เพื่อปีถัดไปจะได้มีเงินไปต่อ ถ้าทุกองค์กรทำอย่างนี้ได้ แต่ละองค์กรมี CSR อยู่แล้วเงินสปอนเซอร์พูลเหล่านี้ ไม่ได้มากมายอะไร”
สร้างโอกาสครั้งใหญ่เพื่อก้าวต่อไป
ก่อนที่จะมีพันธมิตรมาร่วมลงทุนเพื่อสนับสนุนและพัฒนากีฬากอล์ฟในเมืองไทย “ทรัสต์กอล์ฟ” ได้เดินหน้าสร้างเส้นทางที่เป็นโอกาสในเวทีกอล์ฟ ในรูปแบบการแข่งขันผสมชาย-หญิง “ทรัสต์กอล์ฟ เอเชียน มิกซ์ ซีรีส์” ซึ่งเป็นแมตช์โคแซงชั่น เก็บคะแนนสะสมของ เอเชียน ทัวร์ และ เลดี้ส์ ยูโรเปี้ยน ทัวร์ 2 รายการ ได้แก่ “ทรัสต์กอล์ฟ เอเชียน มิกซ์ คัพ” วันที่ 7-10 เมษายน 2565 และ “ทรัสต์กอล์ฟ เอเชียน มิกซ์ สเตเบิลฟอร์ด ชาลเลนจ์” วันที่ 13-16 เมษายน 2565 ชิงเงินรางวัลรวม 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 49 ล้านบาท) ที่สยามคันทรีคลับ วอเตอร์ไซด์ พัทยา จ.ชลบุรี
ดร.ปริญ ยืนยันว่านี่คือ การก้าวสู่ระดับนานาชาติกับการแข่งขันรูปแบบใหม่ นั่นคือ การเล่นกอล์ฟแบบผสมชาย-หญิง แข่งขันสนามเดียวกัน ชิงถ้วยเดียวกัน มีเวิล์ดแรงกิ้งทั้งหญิง-ชาย ถือเป็นเวทีสำคัญที่ช่วยพัฒนาศักยภาพนักกอล์ฟไทยสู่การแข่งขันระดับสากล เป็นการสร้างโอกาสครั้งใหญ่เพื่อนักกีฬากอล์ฟ ของไทยจะได้ก้าวต่อไป
มีคนถามว่าที่ทำมาทั้งหมดนี้เราจะได้อะไรบ้าง คำตอบง่าย ๆ ของ ดร.ปริญ ก็คือ
“เรายังไม่ได้วันนี้ แต่เราเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เราทำวันนี้เราจะได้กลับคืนมาแน่นอนภายใน 10 ปีหรืออาจจะเร็วกว่านั้น”