วันที่ 2 เมษายน 2562 เวลา 11.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ณ สนาม ไซตามะ สเตเดียม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, การกีฬาแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าเยี่ยมชม สนาม ไซตามะ สเตเดียม ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการก่อสร้าง หรือปรับปรุง สนามฟุตบอลภายในประเทศไทย
การเยี่ยมชมสนาม ไซตามะ สเตเดียม ครั้งนี้ นำโดย นาวาตรี วรวิทย์ เตชะสุภากูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ประกอบด้วย พล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการเลขาธิการสมาคมฯ นายพาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศฯ และเจ้าหน้าที่สมาคมฯ
ส่วน คณะผู้บริหารการกีฬาแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย พันโท รุจ แสงอุดม รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายกีฬาอาชีพและสิทธิประโยชน์ นายวิษณุ ไล่ชะพิษ รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย นายเกื้อ ชูศรี หัวหน้างานศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ ส่วนภูมิภาค และเจ้าหน้าที่ โดยได้รับการต้อนรับจาก ยูกิทาดะ บัน ผู้จัดการสนาม ไซตามะ สเตเดียม
พล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ กล่าวว่า “วันนี้ทางคณะของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ ผู้บริหารการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้มาเยี่ยมชม สนาม ไซตามะ สเตเดียม ซึ่งเป็นสนามเหย้าของสโมสร อุราวะ เรดส์ ไดมอนด์”
“การมาครั้งนี้ทำให้พวกเราได้พบได้เห็นมาตรฐานของสนามที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก เชื่อว่าการมาครั้งนี้ได้ประโยชน์ สำหรับ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่จะนำความรู้ต่างๆ หรือสิ่งที่ได้เห็นต่างๆ ไปเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ในช่วงต้นปีหน้า เพื่อที่เราจะได้ปรับปรุงสนาม ให้ได้มาตรฐานของเอเอฟซี”
“ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่า สิ่งที่เราได้พบได้เห็น ได้เรียนรู้ ได้ทราบข้อมูล จะเป็นประโยชน์สำหรับวงการกีฬาฟุตบอลในอนาคต เพราะว่าในวันข้างหน้า เราอาจจะต้องมีสนาม ที่มีมาตรฐานเช่นนี้ เพื่อโอกาสของเรา ในวันข้างหน้า เราอาจจะเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระดับโลก ต่อไป ก็ถือว่าเป็น การเดินทางมาดูงาน ที่มีคุณค่าสำหรับวงการกีฬาฟุตบอลในอนาคต”
“ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้หารือกับ ผู้บริหาร การกีฬาแห่งประเทศไทย มาโดยตลอดว่า สิ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาวงการกีฬาฟุตบอลไทย ในอนาคต คือเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกในการฝึกซ้อม ซึ่งประเทศไทย เอง เรายังไม่มี เราทำความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี แต่นั่นก็อยู่ในพื้นที่ของภาคเอกชน”
“ผมอยากจะมี และทำร่วมกับการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือในพื้นที่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย เพราะมันเป็นสมบัติของทางราชการในอนาคต และก็ยั่งยืน จากการทำงานร่วมกันระหว่าง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ การกีฬาแห่งประเทศไทย จะนำไปสู่การพัฒนา หรือก่อให้เกิดมีศูนย์ฝึกกีฬาฟุตบอลที่ได้มาตรฐาน เหมือนกับประเทศต่างๆ ที่เขาประสบผลสำเร็จ ทำกันมาแล้ว”
“เชื่อว่าในอนาคต ประเทศไทยน่าจะมีโอกาส มีสนามฟุตบอลที่เป็นมาตรฐานสากล หรือเป็นสนามฟุตบอลจริงๆ คือไม่มีลู่วิ่ง สิ่งสำคัญคือที่ดิน ซึ่งถ้าเรามีไอเดียแล้ว เราก็สามารถหาที่ดิน ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เรื่องการก่อสร้างในอนาคตก็เป็นไปได้”
“ผมอยากจะบอกแฟนบอลว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้าเกิดความร่วมมือของสมาคมฯ หน่วยราชการ ภาคเอกชน รวมถึงแฟนบอล เห็นได้ว่าสนามต่างๆในประเทศญี่ปุ่น แฟนบอลหรือประชาชนมีส่วนร่วมในการบริจาคเงิน และเป็นผู้ถือหุ้น และประเทศไทยเราก็ถือว่าสามารถมีได้ โดยใช้ต้นแบบจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของฟุตบอล”
สำหรับสนาม ไซตามะ สเตเดียม ปัจจุบัน เป็นสนามของ สโมสร อุราวะ เรดส์ ไดมอนด์ มีความจุผู้ชมทั้งหมด 63,700 ที่นั่ง และเคยใช้เป็นสนามแข่งขันฟุตบอลโลก 2002 รวมถึงการแข่งขันฟุตบอลรายการอื่นๆ อาทิ กีริน คัพ โดยก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ เมื่อปี 2544