ตามที่ คณะผู้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย และ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ฝึกฟุตบอล J-Village ฟูคุชิมา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติในประเทศไทย เมื่อวันที่ 1-5 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา
ความคืบหน้าล่าสุดหลังจากที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ส่งหนังสือขอความอนุเคราะห์ใช้พื้นที่ จำนวน 150 ไร่ ภายในศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อใช้ในการสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ ถึง ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562
ล่าสุด การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือแจ้งกลับมายังสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ อนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายในศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี จำนวน 150 ไร่ เพื่อดำเนินโครงการสร้างดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 ที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
พล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “ต้องขอขอบคุณการกีฬาแห่งประเทศไทย แทนแฟนบอลชาวไทยทุกๆ คน โดยเฉพาะท่านผู้ว่าฯ ก้องศักด ยอดมณี ท่านเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนากีฬาฟุตบอลอย่างแท้จริง ศูนย์ฝึกฟุตบอลถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาตั้งแต่ระดับรากฐานของนักกีฬาฟุตบอล ตลอดจนบุคลากรฟุตบอล ทั้ง ผู้ตัดสิน ผู้ช่วยผู้ตัดสิน รวมไปถึงการอบรมผู้ฝึกสอนในระดับต่างๆ มากมาย”
“สำหรับการดำเนินการสมาคมฯ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะขึ้นมาแล้ว จากนี้ทางสมาคมฯ จะทำหนังสือแจ้งไปยัง กกท. เพื่อขอลงสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด และจัดทำแบบแผนของโครงการและงบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งนี้จะต้องมีความเหมาะสม มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย มีอุปกรณ์ต่างๆ และสนามฝึกซ้อมตามมาตรฐานสากล การเดินทางสะดวกและปลอดภัย ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพมหานคร โดยรถยนต์ ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง”
สำหรับ โครงการสร้างศูนย์ฟุตบอลแห่งชาติ เป็นโครงการตามแผนแม่บทพัฒนาฟุตบอลแห่งชาติระยะยาว 20 ปี ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามนโยบายของ พล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย มีศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ ที่สามารถใช้งานได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือ ศูนย์พัฒนาศักยภาพกีฬาฟุตบอล มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเก็บตัวของทีมชาติไทยที่มีหลายชุด ทั้ง ชายและหญิง อีกทั้งยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมฟุตบอลรากหญ้า (grassroots) ซึ่งเป็นรากฐานของการผลิตนักกีฬาฟุตบอลในระดับเยาวชนได้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย