“บาร์เซโลนา”กำลังมุ่งหน้าสู่กลียุคหรือไม่? หลังความชอกช้ำในฟุตบอลถ้วย

Photo of author

ลิโอเนล เมสซี เพลย์เมคเกอร์กัปตันทีมชาติอาร์เจนตินา กระหน่ำ 36 ประตูใน ลา ลีกา ฤดูกาล 2018-2019 พาต้นสังกัดคือ บาร์เซโลนา ฟาดแชมป์อย่างเกรียงไกรทิ้งอันดับ 2 แอตเลติโก มาดริด ห่างมากถึง 11 คะแนน และทะยานสูงกว่าอริตลอดกาลอย่าง รีล มาดริด แบบสุดกู่ 19 คะแนน

ปัจจุบัน บาร์เซโลนา ยืนอยู่บนจุดเดียวกับ บาเยิร์น มิวนิค, ยูเวนตุส สองผู้ยิ่งใหญ่แห่งเยอรมัน, อิตาลี นั่นคือแค่แชมป์ลีกในประเทศไม่เพียงพอ พวกเขาต้องท้าทายระดับทวีปในทุกฤดูกาล และทุกฤดูกาลเป้าหมายต้องมีมากกว่า 1 แชมป์ หากผิดหวังใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ก็ต้องกอบกู้เกียรติยศด้วยฟุตบอลถ้วยในประเทศ

บาร์เซโลนา ตอนนี้ดูอหังการเกิน แอตเลติโก มาดริด หรือ รีล มาดริด จะอาจเอื้อมไปสัมผัส แต่การกระเด็นจาก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในรอบรองชนะเลิศแบบโลกตะลึงพรึงเพริด ต่อด้วยจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ต้องเสียท่า บาเลนเซีย ซ้ำอีกใน โคปา เดล เรย์ รอบชิงชนะเลิศ จึงทำให้บรรยากาศในถิ่น คัมป์ นู ดูย่ำแย่ ทั้งที่เพิ่งคว้าแชมป์ลีกได้อย่างน่าเกรงขาม

แต่นาทีนี้สำหรับ บาร์เซโลนา ไม่สามารถจบฤดูกาลด้วย 1 แชมป์อีกต่อไปแล้ว หรือพูดอีกอย่างก็คือ พวกเขายิ่งใหญ่เกินกว่าเป็นแค่ 1 แชมป์

การพลาดแชมป์ฟุตบอลถ้วย 2 รายการในช่วงเวลาห่างกันไม่กี่สัปดาห์ กระทบกระเทือนจิตใจเหล่า “อาซูลกรานา” อย่างรุนแรงและทำให้ เอร์เนสโต บัลเบร์เด ต้องดิ้นรนหนักในการรักษาเก้าอี้กุนซือ

จะว่าไปแล้วตั้งแต่ไหนแต่ไร เอร์เนสโต บัลเบร์เด ก็ไม่ใช่คนโปรดของเหล่า “บาร์เซโลนิสตา” อันเนื่องมาจากการจัดทัพที่หลายครั้งไม่ว่าจะกำหนดแผนหรือการเลือกผู้เล่นลงสนาม ดูจะค้านสายตาและขัดใจผู้มีจิตศรัทธา ตัวตนของเทรนเนอร์รายนี้สะท้อนออกมาในการเจอกับ บาเลนเซีย โดยพยายาม “เพลย์เซฟ” ทว่ากลับตกเป็นรองก่อน 0-2 จนเข้าสู่ครึ่งหลัง การปล่อย มัลคอม, อาร์ตูโร วิดัล เพิ่มมิติการโจมตีทั้งริมเส้นและตรงกลาง คือการตัดสินใจถูกต้อง เพียงแต่มันเกิดขึ้นสายเกินไปแล้ว

ฤดูร้อนนี้ บาร์เซโลนา ต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้วิกฤติมากไปกว่านี้

1.ก่อรูปร่างแนวรุกขึ้นใหม่
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ อังตวน กรีซมันน์ ถูกจับเกี่ยวโยงกับ บาร์เซโลนา โดยฤดูกาลนี้หัวหอกทีมชาติฝรั่งเศส สอยใน ลา ลีกา ไปทั้งหมด 15 ประตู มีส่วนสำคัญมากกับการนำ แอตเลติโก มาดริด จบฤดูกาลด้วยรองแชมป์ ยิ่งเมื่อดาวเตะของแชมป์โลกรายล่าสุดประกาศลาแล้ว “ตราหมี” ก็ยิ่งทำให้ข่าวกับ “บาร์ซา” ทวีน้ำหนักยิ่งขึ้น ซึ่งตลอด 5 ฤดูกาลในสีเสื้อขาว-แดง เขาตอบสนองแผนการเล่นได้ทั้ง 4-4-2, 4-3-3 จะรับบทกองหน้าคู่หรือโฉบเฉี่ยวด้านข้าง ประสิทธิภาพก็ไม่แตกต่างกันเลย ซึ่งความยืดหยุ่นแบบนี้เองคือคุณสมบัติสำคัญของเขา เพียงแต่คำถามใหญ่ก็คือ ถ้าได้มาจริง บาร์เซโลนา จะจัดระบบแนวรุกอย่างไร ส่งไปยืนคู่ ลิโอเนล เมสซี หรือจัดไปพร้อมกัน 3 หอกประสานโหดกับ หลุยส์ ซัวเรซ หรือหาก “ดีล” นี้ที่สุดล้มเหลว คาดว่า มักซี โกเมซ (เซลตา บีโก), คริสเตียน สตูอานี (กิโรนา) และ โรดริโก (บาเลนเซีย) เป็นทางเลือกสำรองที่ บาร์เซโลนา เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้แล้ว แต่ไม่ว่าจะเป็นแผน 4-4-2, 4-3-3 ก็ดูจะไม่มีที่ว่างสำหรับ ฟิลิปเป คูตินโญ อีกต่อไปแล้ว

2.เดอ ยอง ผู้นำคนใหม่ในแดนกลาง
อาร์ตูโร วิดัล, เซร์คิโอ บุสเก็ตส์ ขึ้นทำเนียบ 30 กะรัต อิวาน ราคิติช ตกเป็นข่าวพัวพัน ปารีส แซงต์ แชร์กแมง, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, อินเตอร์ มิลาน จึงถึงเวลาแล้วที่แดนกลางจะต้องมีการปรับปรุง ซึ่งก็เป็น เฟรนกี เดอ ยอง วัย 21 ปี ที่ถูกเลือกเข้ามาเสริมในส่วนนี้ด้วยค่าตัว 75 ล้านยูโร ซึ่งกองกลางทีมชาติเนเธอร์แลนด์ เพิ่งมีฤดูกาลน่าจดจำเมื่อเป็นห้องเครื่องพา อาแยกซ์ อัมสเตอร์ดัม พุ่งเข้ารอบรองชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และหากไม่เสียสมาธิกันเองในช่วงท้ายนัด 2 มหาอำนาจแดนกังหัน มีสิทธิ์เตลิดเข้าไปชิงชนะเลิศด้วยซ้ำ นอกจากนี้ “บาร์ซา” มีแผนดัน อาร์ตูร์ เมโล, คาร์เลส อาเลนา และ “นิว ซาบี” ริคกี ปูอิก ขึ้นมาในฐานผลิตผลแห่ง “ลา มาเซีย”

3.อุมติตี ไป, เดอ ลิกต์ มา …ใช่หรือไม่?
เมื่อปี 2016 บาร์เซโลนา ยอมควัก 21 ล้านปอนด์ เป็นค่าตัว ซามูแอล อุมติตี กองหลังดาวรุ่ง โอลิมปิก ลียง มาจนวันนี้เขายังไม่สามารถพิสูจน์คุณภาพตนเองให้เป็นที่ประจักษ์ชัด ขณะเดียวกัน บาร์เซโลนา กำลังเจรจากับ มาไธจ์ เดอ ลิกต์ กองหลังดาวรุ่งของ อาแยกซ์ อัมสเตอร์ดัม ซึ่งหาก “ดีล” นี้จบสวย บาร์เซโลนา คงไม่ซื้อแข้งใหม่มาดองแน่ สถานการณ์จึงมีแนวโน้มว่า เดอ ลิกต์ จะเข้ามายึดสัมปทานปราการหลังคู่ เคราร์ด ปิเก แต่คำถาม 2 ข้อคือด้วยค่าเหนื่อยที่สูงลิ่ว บาร์ซา จะยังเก็บ อุมติตี ไว้หรือไม่ และตัวนักเตะเองจะพอใจหรือมีความสุขแค่ไหน กับการต้องเป็นสำรองของ เดอ ลิกต์ นอกจากนี้ ฝั่งซ้ายของแนวรับเป็นอีกจุดที่ บาร์ซา ต้องขบคิดหาคนมารองรับ ฆอร์ดี อัลบา เนื่องจากฟูลแบ็กทีมชาติสเปน อายุเข้า 30 ปีแล้ว โดยแว่วว่า มาร์ค คูคูเรญา ที่ยืมมาจาก เออิบาร์ มีแววว่าอนาคตสดใสรออยู่ สมควรจะปั้นต่อไปให้ได้แจ้งเกิด

4.เมสซี และ แตร์ สเตเกน + 9 ?
อย่างที่ทราบกันประจักษ์ว่า ลิโอเนล เมสซี มีสถานภาพ “ไม่อาจแตะต้อง” ดังนั้นการสร้าง “ทีม” จะต้องคงกัปตันอาร์เจนไตน์ ให้เป็นแกนหลัก และถ้ารวม มาร์ค อันเดร แตร์ สเตเกน ผู้รักษาประตูทีมชาติเยอรมัน เท่ากับว่านี่คือ 2 คีย์แมน ที่จะรับประกัน “ตัวจริง” แน่นอนในฤดูกาลหน้า สำหรับตำแหน่งอื่น อาทิ อังตวน กรีซมันน์ เขาต้องท้ารบกับ หลุยส์ ซัวเรซ, อุสมาน เดมเบเล แดนกลางทั้ง บุสเก็ตส์, วิดัล คงไว้ลายเสือเฒ่า ไม่ยอมให้รุ่นใหม่วัดรอยเท้าง่ายดาย เช่นเดียวกับ อุมติตี ที่พกชื่อ-ชั้นระดับทีมชาติฝรั่งเศส ย่อมมีทิฐิและสู้ยิบตากับ เดอ ลิกต์

แน่นอนว่า บาร์เซโลนา คงเร่งเสริมศักยภาพในฤดูร้อนนี้ แต่คำถามคือ เอร์เนสโต บัลเบร์เด จะยังคงได้เป็นผู้นำในการ “สร้างใหม่” ครั้งนี้หรือไม่ ซึ่งผู้จะให้คำตอบที่ดีสุดก็คือ โฆเซป มาเรีย บาร์โตเมว ประธานสโมสร นั่นเอง

ฟีนิกซ์ วิหคเพลิง

หมายเหตุ : บทความนี้อ้างอิงจาก “Are Barcelona heading for summer of upheaval after cup disappointments?” จัดทำโดยผู้สื่อข่าวสายฟุตบอลสเปน ประจำสำนักข่าว บีบีซี