“โซลชาร์” ฝ่าวิกฤติ (ต้อง) พิชิต “หงส์แดง” ? (บทจบ)

Photo of author

ในช่วงทีมชาติราวีกัน เชื่อว่า โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ กุนซือนอร์วีเจียน จะมีเวลาว่างค้นหาวิธีคลี่คลายสถานการณ์ที่จวนเจียนจะคับขันทั้งของตนเองและ “ปีศาจแดง” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ให้ทันเวลาต้อนรับ “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล วันที่ 20 ต.ค. นี้

ล่าสุดที่ “ปีศาจแดง” กำราบอริอันดับ 1 แบบไป-กลับใน พรีเมียร์ลีก เกิดขึ้นล่าสุดในฤดูกาล 2014-2015 ด้วยผล 3-0 (เหย้า), 0-1 (เยือน) จากนั้นดวลกัน 6 นัด พรีเมียร์ลีก แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ 1 เสมอ 4 แพ้ 1

บางที “แดงเดือด” ครั้งนี้อาจชี้ชะตา โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ เหมือนครั้งก่อนซึ่งเคยเป็นเงื่อนไขประหาร โฆเซ มูรินโญ ต่างกันเพียงครั้งชะตากรรมจะโดนตัดสินตั้งแต่เดือนตุลาคม ส่วนคราวของเทรนเนอร์โปรตุกีส เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม

โซลชาร์ รับงานต่อจาก มูรินโญ ช่วงแรกภายใต้สัญญา “รักษาการณ์” จนเมื่อผ่านการพิสูจน์คุณภาพแล้วระดับหนึ่ง จึงรับสัญญาแบบถาวรเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2019 โดยก่อนได้ครองตำแหน่งแบบเด็ดขาด กุนซือนอร์วีเจียนช่วยให้ “ปีศาจแดง” แพ้เพียง 1 นัดจากการลงสนามทั้งหมด 17 นัด ค่าเฉลี่ยสูงลิ่วถึงร้อยละ 82.35 บรรยากาศใน โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ดูเรืองรองอีกครั้งด้วยความหวังครั้งใหม่

ทว่าหลังจากได้นั่งเก้าอี้อย่างเต็มตัว โซลชาร์ พาแชมป์ 20 สมัยกวาดไป 14 คะแนนจาก 15 นัด พรีเมียร์ลีก (คะแนนเต็มคือ 45) มีเพียง เซาท์แฮมป์ตัน (13 คะแนน), ไบรก์ตัน (12 คะแนน), วัตฟอร์ด (10 คะแนน) ที่เก็บคะแนนได้น้อยกว่า จึงไม่แปลกที่ค่าเฉลี่ยการชนะจะวูบต่ำไปเหลือร้อยละ 47.5 นับว่าย่ำแย่สุดขีดนับตั้งแต่ยุค เดฟ เซกซ์ตัน ผู้จัดการช่วงปี 1977-1981

แต่ถึงจะอยู่เหนือ “เรด โซน” เพียง 2 คะแนน (และไม่ชนะนอกบ้าน 8 นัดติดอันเป็นสถิติแย่สุดนับตั้งแต่ปี 1989) แมนฯ ยูฯ ก็ยังดูไม่คล้ายสโมสรที่จะต้องไปจมอยู่ในเขตอันตราย โดยครั้งล่าสุดที่พวกเขาเคยรั้ง 3 อันดับท้ายตารางคือฤดูกาล 1992-1993 แต่สุดท้ายฤดูกาลนั้นพวกเขาคือ “แชมป์” ดังนั้นหากมองอีกแง่หนึ่ง การต้องอยู่ครึ่งล่างของตารางตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาล ทำให้มีเวลามากพอจะสะสางปัญหาเพื่อดึงสโมสรกลับไปสู่จุดอันเหมาะสม

แมนฯ ยูฯ ตอนนี้อยู่อันดับ 12 โดนกระทุ้งไปแล้ว 8 ประตู ค่าเฉลี่ยคือโดนทุกนัด นัดละ 1 ประตู มันก็น่ากังวลอยู่ ทว่าหากเปรียบเทียบกับ แมนฯ ซิตี ที่โดนขยี้ 9 ดอก ลิเวอร์พูล ที่โดนสะกิด 6 แผล แนวรับอาจเป็นจุดอ่อนที่ยังไม่ร้ายแรงเท่าแนวรุกที่ถล่มคู่แข่งไปแล้ว 9 ประตู น้อยกว่าอันดับ 15 แอสตัน วิลลา (ยิง 13 ประตู) อันดับ 19 นอริช ซิตี (ยิง 10 ประตู) ทีนี้ความน่ากังวลก็คือแชมป์ 20 สมัย ส่งบอลตุงตาข่ายสำเร็จไม่ถึงร้อยละ 10 ของโอกาสสับไกทั้งหมด

แนวรุกตรา “ปีศาจกระชับสามง่าม” ฤดูกาลนี้วุ่นวายมาก นอกจากฝืดแล้วยังมีแย่งยิงจุดโทษกันด้วย หนำซ้ำคนที่ขอโอกาสยิงก็ดันเท้าบอดเสียเอง กลายเป็นที่น่าตลกขบขันปนอ่อนเพลียละเหี่ยใจ ปอล ป็อกบา ห้องเครื่องแชมป์โลกยังไม่อาจยกระดับเป็นผู้นำอย่างเต็มตัว อันเดรียส เปเรยรา, แดเนียล เจมส์ ยังดูเป็นความหวังได้มากกว่าด้วยซ้ำ

จะว่าไปแนวรุก “เรด เดวิลส์” ที่มีปัญหาตอนนี้ โซลชาร์ เองก็นับเป็นส่วนหนึ่งสาเหตุเช่นกัน จากการปล่อย อเล็กซิส ซานเชซ กองหน้าทีมชาติชิลี, โรเมลู ลูกากู ศูนย์หน้าทีมชาติเบลเยียม ที่ไม่อยู่ในแผนงานของตน ออกไปให้ อินเตอร์ มิลาน รวดเดียวไล่เลี่ยกันในช่วงตลาดฤดูร้อนที่ผ่านมา โดยรายแรกเป็นการส่งให้ยืม ส่วนรายหลังขายเด็ดขาดแลกกับเงิน 74 ล้านปอนด์ นี่ยังไม่รวม อันเดร์ เอร์เรรา กองกลางสแปนิช ที่ย้ายแบบไม่มีค่าตัวไปอยู่ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง

กุนซือหน้าเด็กจึงไม่เพียงช่วยลดภาระค่าจ้างนักเตะให้สโมสร ทั้งยังช่วยนำรายได้เข้าคลังสโมสรอีกด้วย ถือว่าประสบสำเร็จในแง่ธุรกิจ แต่ในแง่บริหารแล้ว โซลชาร์ สอบตกสิ้นเชิง เพราะการขาย ลูกากู ศูนย์หน้า “ทาร์เกต แมน” โดยธรรมชาติออกไปทั้งที่ยังไม่สามารถหาใครมาทดแทนไว้ก่อน ปัญหาจึงเกิดขึ้นทันทีหาก มาร์คัส แรชฟอร์ด, อองโตนี มาร์กซิยาล ไม่พร้อมล่าตาข่าย ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุสภาพร่างกายหรือติดโทษก็ตาม หรือต่อให้ แรชฟอร์ด, มาร์กซิยาล อยู่พร้อมกันในสนาม ทว่าในวันที่สถานการณ์เพลี่ยงพล้ำ กลยุทธ์ที่จะพลิกสถานการณ์ก็จะถูกจำกัด ด้วยทั้งเชิงปริมาณและความหลากหลายของผู้เล่น “บาดเจ็บ” คือคำชวนหลอนที่ โซลชาร์ ไม่อยากได้ยินอีกแล้ว เพราะนี่คือปัญหาที่คุกคามขุมกำลังอย่างรุนแรง ดังจะเห็นได้จากขุนพล 11 คนแรก จากนัดที่ยำ เชลซี 4-0 ในวันที่เยือน นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด หลงเหลือเพียง 5 คน ได้แก่ ดาบิด เด เกอา, แฮร์รี แม็คไกวร์, สกอตต์ แม็คโทมิเนย์, อันเดรียส เปเรยรา, มาร์คัส แรชฟอร์ด สาเหตุสำคัญมากจากการที่หลายคนสลับโดนอาการบาดเจ็บคุกคาม อาทิ ลูค ชอว์, วิคเตอร์ ลินเดอเลิฟ, อองโตนี มาร์กซิยาล, เจสซี ลินการ์ด

ดังนั้นหากให้สรุปสาเหตุความดำดิ่งของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่กำลังดำเนินอยู่และยังไม่มีวี่แววว่าจะไปจบตรงจุดไหน-อย่างไร ก็คงพอจะสรุปได้ 3 ประการคือ

1.ขุมพลังอ่อนแอ ….ในช่วงตลาดภาคฤดูร้อน เปาโล ดีบาลา ดาวรุกทีมชาติอาร์เจนตินา ถูกลือหนักมากว่าจะสลัดคราบม้าลายของ ยูเวนตุส มาสวมเครื่องแบบสีแดงของปีศาจ นาทีนั้นการเสีย “รอม ลูกากู” แต่หากได้ ดีบาลา ก็ถือเป็นการทดแทนที่เกินคาดหมาย เป็นความสุขมากมายของสาวก “เรด เดวิลส์” ทว่าสุดท้ายเมื่อมีคนไปแต่ไร้คนเข้า โซลชาร์ จึงต้องส่งดาวรุ่งอย่าง เมสัน กรีนวูด ลงสนามบ้างแม้ดาวรุ่งรายนี้ยังไม่พร้อมแบกรับความกดดัน เช่นเดียวกับการปล่อย อเล็กซิส ซานเชซ ทำให้หลายครั้งต้องฝากความหวังที่ ฆวน มาตา ซึ่งก็พลิกชะตาให้ทุกครั้งไม่ไหว หรือในแดนกลางที่วันนี้ เนมันยา มาติช เริ่มอืดแล้ว ปอล ป็อกปา ก็เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เมื่อไม่มี อันเดร์ เอร์เรรา เราจึงได้เห็น เฟรด โรดริเกซ ซานโตส ลงไปสร้างความบันเทิงบ่อยครั้ง

2.วางแผนอ่อนหัด …สาเหตุข้อนี้ ภาคภาษาอังกฤษใช้คำว่า Naive tactics ก็ไม่แน่ใจว่าจะใช้ภาษาไทยนิยามอย่างไรให้ใกล้เคียง แต่สาระสำคัญของข้อนี้พูดถึง โซลชาร์ ในเชิงทัศนคติ เพราะย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 อดีตหัวหอกทีมชาตินอร์เวย์ เคยลองชิมลางกับการคุมสโมสร พรีเมียร์ลีก ได้แก่ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี ซึ่งในแง่ผลการแข่งนั้นเข้าขั้น “น่าเกลียด” แต่ในแง่รูปแบบการเล่นนั้นได้รับคำยกย่องมากมายถึง “ความกล้าหาญ” ซึ่งแตกต่างสิ้นเชิงกับวันนี้ที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะรุกเต็มตัวก็กลัวโดนยิง จะรับเต็มเหนี่ยวก็เสียวเหมือนรอโดน สุดท้ายจึงละล้าละลังไปไหนไม่รอด นอกจากนี้ด้วยระบบหลัก 4-2-3-1 แมนฯ ยูฯ ต้องการกองกลางที่มีทักษะแบบ “จอมทัพ” ซึ่งไม่ว่าอย่างไร เจสซี ลินการ์ด ก็ไม่ใช่คำตอบแน่นอน

3.ไร้แผนสำรอง …ภาษาอังกฤษใช้ว่า No Plan B เพราะ 4-2-3-1 ระบบหลักของ แมนฯ ยูฯ อยู่ภายใต้แผนการเล่นที่เน้นรับให้แน่นไว้ก่อนแล้วจากนั้นค่อยหาโอกาสโต้กลับเร็ว แน่นอนว่าแผนนี้เหมาะสมกับกับแนวรุกที่ปราดเปรียวอย่าง แรชฟอร์ด, มาร์กซิยาล ซึ่งแผนแบบนี้จะ work แน่ก็ต่อเมื่อแนวรับไว้ใจได้ แต่ถ้าวันใดแผนแตกหรือที่เรียกว่า doesn’t work พลาดท่าโดนยิงก่อน คุณต้องหันไปบุกเต็มตัวทุกรูปแบบ ซึ่งหากหวังจะมีการโจมตีที่หลากหลายก็ต้องมีผู้เล่นที่รู้จัก “สร้างสรรค์” หรือที่เรียกว่า creative player ที่ไม่มีอยู่เลยใน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ชุดปัจจุบัน

ปัญหาทั้ง 3 ประการดังกล่าวสามารถแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เกิดจากคนอื่นกับส่วนที่เกิดจากตัว โซลชาร์ จึงน่าสนใจว่าตัวเขาจะลดความรุนแรงของปัญหาอย่างไรให้ทัน “แดงเดือด ดาร์บีแมตช์” ยิ่งตอนนี้ พรีเมียร์ลีก ประกาศชื่อผู้ตัดสินที่จะลงชี้ขาดศึกแห่งศักดิ์ศรีออกมาแล้ว ไม่แน่ใจว่ากองเชียร์ 2 ฝั่ง ใครสมควรหวาดเสียวมากกว่ากัน

พรีเมียร์ลีก ประกาศว่า มาร์ติน แอตคินสัน ได้รับมอบหมายให้เป่านกหวีด “แดงเดือด” วันอาทิตย์ที่ 20 ต.ค. นี้ ซึ่งผู้ตัดสินวัย 48 ปีท่านนี้ ก่อนเปิดฤดูกาลก็เพิ่งปฏิบัติงานใน คอมมูนิตี ชิลด์ ซึ่งจบด้วย ลิเวอร์พูล แพ้ดวลจุดโทษ แมนเชสเตอร์ ซิตี และย้อนกลับไปปี 2015 ก็คือผู้แจกใบแดงใล่ สตีเวน เจอร์ราร์ด อดีตกัปตันทีม “หงส์แดง” หลังจากลงมาเหยียบสนามเพียง 38 วินาที แต่แสดงความฮึกเหิมเกินเหตุจนย่ำ อันเดร์ เอร์เรรา ซึ่งศึกนั้น แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ 2-1

อย่างไรก็ตาม “แดงเดือด” เที่ยวล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา มาร์ติน แอ็ตคินสัน ก็เป็นตุลาการสนามด้วยในสมรภูมิที่ ลิเวอร์พูล ฐานะเจ้าถิ่นขยี้คู่อริ 3-1 และวันรุ่งขึ้น โฆเซ มูรินโญ เปลี่ยนสถานภาพเป็นอดีตผจก.”ปีศาจแดง”

ลิเวอร์พูล ครองแชมป์ลีกครั้งล่าสุดเมื่อปี 1990 หากจบนัดสุดท้ายของฤดูกาล 2019-2020 พวกเขายังอยู่ในอันดับเดียวกับปัจจุบัน ก็จะสิ้นสุดการรอแชมป์อย่างยาวนานไว้ที่ 30 ปี

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ผ่าน 8 นัดแรก พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2019-2020 ด้วยการชนะ 2 เสมอ 3 แพ้ 3 ยิงได้ 9 ประตู โดนยิง 8 ประตู มี 9 คะแนน สร้างสถิติ “ออกตัว” แย่สุดในรอบ 30 ปี

โอเล กุนนาร์ โซลชา ถ้าสัปดาห์หน้าตกเก้าอี้ มันก็คงเป็นผลจาก “แดงเดือด” ณ วันที่ 20 เดือน 10 (20+10=…) นั่นเอง

กัปตันโยฮัน
หมายเหตุ : อ้างอิงข้อมูลจาก bbc.co.uk, madaboutepl.net