ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2018 กระแสเรื่องรอยร้าวระหว่าง เยอร์เกน คล็อปป์-เซลช์โก บูวัช เริ่มโชยกรุ่น
ตั้งแต่นั้นสาธารณชนเริ่มจับสังเกต ต่อมาสถานการณ์ทุกอย่างกระจ่างชัด เหลือคลุมเครือเพียงสาเหตุ ขณะเดียวกันกองเชียร์ “เดอะ ค็อป” พากันถามไถ่ “บูวัช ไปไหน ?” …นั่นคือคำถามแสดงความสงสัยที่ปะปนความหวั่นไหวไม่น้อย เป็นความหวั่นไหวที่เกิดจากความไหวหวั่นต่อทิศทางของ ลิเวอร์พูล เอฟซี ที่กำลังตั้งหลักเริ่มมั่นคง แล้วแบบนี้อนาคตจะเป็นอย่างไร ?
มาบัดนี้ผ่านครึ่งแรกของปี 2019 ยังคงมีเสียงสงสัย “บูวัช ไป(อยู่)ไหน ?” เพียงแต่คำถามเดิมนี้ แผ่วซ้ำออกมาในอารมณ์ที่เปลี่ยนไปแล้ว
ย้อนกลับไปปี 2014 หลังฤดูกาลรองแชมป์พรีเมียร์ลีก ที่เฉียดฉิวแต่น่าตื่นตาตื่นใจภายใต้พลังปะทุของ สตีเวน เจอร์ราร์ด และการล่าสังหารภายใต้เอกลักษณ์ท้าทะลวงดงเท้าคู่ต่อสู้ตามแบบฉบับของ หลุยส์ ซัวเรซ ถัดมาไม่กี่เดือน การวางหมากของ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส (ต่อมาย้ายไปไขว่คว้าความสำเร็จเป็นกอบเป็นกำกับ กลาสโกว์ เซลติก) กุนซือชาวไอร์แลนด์เหนือ ถูกพบว่าเริ่ม “ตัน” กลุ่มผู้บริหารเล็งเห็นว่าไม่เพียงคงไปได้ไม่ไกลกว่านี้ ทิศทางของ ลิเวอร์พูล กลับดูมีแต่จะถดถอย ยอดสโมสรแห่งลุ่มน้ำเมอร์ซีย์ จึงกล่าวขอบคุณและบอกลา “บี ร็อด”
บรรยากาศหม่นหมองปกคลุม แอนฟิลด์ หลังจากปล่อยถ้วยแชมป์ พรีเมียร์ลีก ไปอยู่กับ “เรือใบสีฟ้า” แมนเชสเตอร์ ซิตี นั่นทำให้กลุ่มทุน เฟนเวย์ สปอร์ตส์ กรุ๊ป (เอฟเอสจี) ตระหนักดีว่า “แมเนเจอร์” คนต่อไปสำคัญมาก อนาคตจากนี้ไปของ ลิเวอร์พูล คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างแท้จริง หากเลือกคนที่ “ไม่ใช่” มีหวังเตลิดเปิดเปิงกู่ไม่กลับ
เยอร์เกน คล็อปป์ เทรนเนอร์เยอรมัน ขณะนั้นอยู่ในช่วงพักผ่อน ทว่าด้วยผลงานเคยปลุกปั้น ไมนซ์, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ บวกบุคลิกสีสัน คณะสรรหาของ เอฟเอสจี จึงตัดสินใจเชิญสัมภาษณ์ และพบว่านี่แหละ “คนที่ใช่” …นับจากนั้นทุกสิ่งอย่างที่ตามมาคือประวัติศาสตร์
เป็นปกติปฏิบัติที่กุนซือคนไหนก็ตาม เริ่มงานสโมสรใหม่ก็ต้องพาเพื่อนเก่าที่รู้ใจไปร่วมหัวจมท้ายด้วยตามประสา คนรู้ใจขอเพียงหนึ่งไม่ต้องถึงร้อย ถึงมีน้อยแต่รักจริงไม่ทิ้งกัน …เยอร์เกน คล็อปป์ จึงไม่ลืมจะหนีบ เซลช์โก บูวัช ไปผจญภัยกันที่เกาะมหาสมบัติ
ระหว่าง 2 หนุ่มใหญ่ เยอรมัน-บอสเนียฯ รู้จักกันมาราว 20 ปี (17 ปี นับเฉพาะความสัมพันธ์ ผจก.-ผช.ผจก.) ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักฟุตบอลอาชีพ โดยเคยมีช่วงเวลาเกี่ยวข้องกันในสังกัดสโมสร ไมนซ์ คนหนึ่งกองหลังอีกคนกองกลาง ซึ่งทั้งคู่ถูกอัธยาศัยกัน ความสัมพันธ์จึงไม่ใช่มีเพียงในสนาม และเมื่อ เยอร์เกน คล็อปป์ “UP STATUS” จากเพลเยอร์ สู่เทรนเนอร์ คนที่ถูกเลือกมาเป็นผู้ช่วยเทรนเนอร์ (หรือที่เรานิยามแบบไทยว่า “มือขวา”) ก็คือ เซลช์โก บูวัช
ความเกรียงไกรของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ช่วงรอยต่อคริสต์ศตวรรษ 20-21 ผู้อยู่เบื้องหลังก็คือ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน-สตีฟ แม็คคลาเรน (ต่อมาก็ คาร์ลอส คีย์รอซ) หรือคืนนั้นปาฏิหาริย์ที่ อิสตันบูล บนเส้นทางสู่แชมป์สโมสรยุโรปสมัย 5 ลิเวอร์พูล ต้องขอบคุณการสร้างสรรค์ของ ราฟาเอล เบนิเตซ-ปาโก อาเยสเตรัน ซึ่งในความคล้ายคลึงบางประการ การบ่มเพาะ ไมนซ์ จนยืนหยัดกล้าแกร่งบน บุนเดสลีกา ต่อมาจนถึงภารกิจคืนชีพให้พยัคฆ์อย่าง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ โค่นอำนาจผูกขาดของ บาเยิร์น มิวนิค นั่นคือใบรับรองคุณภาพของคู่หู “คล็อปป์-บูวัช”
ทั้งหมดที่กล่าวไปนั้น เพื่อฉายภาพให้เห็นว่าระหว่าง คล็อปป์-บูวัช ความสัมพันธ์นั้นแนบแน่น จนไม่มีใครคิดว่าจะมีวันขาดวิ่น
ระหว่างการสัมภาษณ์งาน เยอร์เกน คล็อปป์ สรุป Roadmap ให้ “เอฟเอสจี” ฟังว่า “ปี1 ซ่อม ปี 2 สร้าง เข้าปี 3 เริ่มเก็บเกี่ยวความสำเร็จ” ซึ่งหากย้อนไปดูกันตั้งแต่ปี 2015 ผลลัพธ์ที่ออกมาถือว่าสอดคล้องทำแผนที่กำหนด โดยตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะในสนามซ้อมหรือข้างสนามวันแข่งจริง ภาพที่ทุกคนเห็นจนคุ้นเคยคือ ชาย 2 คน “คล็อปป์-บูวัช” ที่เหมือนเป็นเงากันและกันโดย คล็อปป์ จะเป็นคนออกแรงปลุกเร้ากระตุ้นนักเตะ ขณะที่ บูวัช ซึ่งดูสุขุมกว่า จะคอยเก็บรายละเอียดทั้งหลายเป็นข้อมูลป้อนให้เพื่อน
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น “ลิเวอร์พูล เอคโค” มอบนิยามความสำคัญ บูวัช เปรียบประดุจ “The Brain” มันสมองของ คล็อปป์ นั่นเลยทีเดียว
แล้วเกิดเรื่องราวอันใดขึ้น ที่รุนแรงถึงขั้นทำให้ “มันสมอง-ร่างกาย” ต้องแยกกันอย่างฉับเพลันและเด็ดขาดในเดือนเมษายน 2018
ตั้งแต่หลังปีใหม่ 2018 บทบาทและตัวตนของ เซลจ์โก บูวัช สาบสูญราวถูกธรณีสูบ หนังสือพิมพ์ ลิเวอร์พูล เอคโค ยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่าง “มันสมอง-ร่างกาย” ไม่เหมือนเดิมมาสักระยะก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งสาเหตุนั้นไม่ชัดแจ้ง แต่พอจะสันนิษฐานได้ 2 ข้อคือ 1.ปัจจัยภายนอก 2.ปัจจัยภายใน ที่หากมองลงให้ลึก ก็อาจเป็นได้ว่าทั้ง 2 ปัจจัยนี้เป็นเหตุ-ผลเชื่อมโยงส่งต่อถึงกัน
เริ่มที่ปัจจัยภายนอกก่อนก็แล้วกัน …ฤดูกาล 2017-2018 คือช่วงสุดท้ายของ “ปืนใหญ่” อาร์เซนอล ก่อนแยกทางกับ อาร์แซน เวนเกอร์ กุนซือฝรั่งเศสที่ร่วมทุกข์-สุขกันมาเกิน 20 ปี
อาร์แซน เวนเกอร์ คือปูชนียบุคลของเหล่า “เดอะ กันเนอร์ส” เขาทำงานในบทบาท “ผู้จัดการ” นิยามเดียวกับ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และสามารถปลุกยักษ์หลับให้ตื่นมาโลดแล่นอย่างมีชีวิตชีวา อีกทั้งในยามที่สโมสรแบกภาระหนี้สินจากการสร้างสนามใหม่ งบประมาณเสริมทัพจำกัดจำเขี่ย เวนเกอร์ คือผู้จัดสมดุลให้เกิดขึ้น อาจห่างเหินแชมป์พรีเมียร์ลีก แต่ไม่เคยห่างไกล ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก สามารถจบ “ท็อป โฟร์” ทุกปี ช่วยให้สโมสรมีรายรับระดับสูงต่อเนื่อง
จนช่วง 3-4 ปีท้าย เหมือนจะเริ่ม “ไม่ไหวแล้ว” ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้ไปบ้างไม่ได้ไปบ้าง (สถานการณ์เดียวกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในปัจจุบัน) เราจึงเห็นป้าย “Wenger Out” ปรากฏในสนามบ่อยขึ้นและจำนวนเริ่มหนาแน่นกว่าป้ายข้อความ “In Arsene, We Trust” …สุดท้ายการจากลาในตอนที่ยังรัก คือหนทางดีสุด
อาร์เซนอล จึงต้องเฟ้นหาบุคคลมาทำงานต่อ แต่ปัญหาคือ อาร์เซนอล คือสโมสรชั้นนำของ พรีเมียร์ลีก แต่ก็ไม่นับเป็นพวก“มือเติบ” ในสาย Shopping ดังนั้นแทนที่จะหาคนที่โด่งดังแล้วมาทำงานต่อจาก เวนเกอร์ พวกเขาหันไปเล่นตลาดรองคือกลุ่มผู้ช่วยฯ ที่มีแวว เรื่องจึงมาถึง แอนฟิลด์ เมื่อค่ายปืนใหญ่มุดซุ้มหงส์จีบ บูวัช
แล้วทำไมต้อง บูวัช ? …ก็อาจเพราะ สเวน มิสลินทัต หัวหน้าฝ่ายสรรหานักเตะของ อาร์เซนอล เคยเป็นสตาฟฟ์ฝ่ายสรรหานักเตะที่ ดอร์ทมุนด์ ซึ่งแน่นอนว่าในการทำงานนั้นทั้ง มิสินทัต, บูวัช และ คล็อปป์ จะต้องประสานใกล้ชิด จึงไม่แปลกที่จะสนิทสนม มีอะไรก็ย่อมนึกถึงกัน แต่ที่คนภายนอกไม่อาจทราบคือ มิสลินทัต เข้าหา บูวัช อย่างไร ลักลอบทาบทามหรือไม่ และทั้งคู่พูดจาแบบใดจึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง บูวัช-คล็อปป์ ตึงเครียดจนต่อมาขาดสะบั้น
ข้อต่อมา ปัจจัยภายใน …หนังสือพิมพ์ เดลี เอ็กซ์เพรสส์ อ้างอิงถึงแหล่งข่าวฝั่งเยอรมัน ที่ระบุว่า บูวัช ต้องเก็บกระเป๋าเดินออกจาก แอลฟิลด์ อย่างร้อนรุ่ม ก็เพราะจิตใจอิจฉาริษยาเพื่อนร่วมงาน
ควรทราบว่าหน่วยงานของ เยอร์เกน คล็อปป์ ขณะนั้นมีสมาชิกราว 20 ชีวิต เอาที่ชื่อเสียงคุ้นหู อาทิ เซลช์โก บูวัช, ปีเตอร์ คราเวียตซ์, จอห์น แอชเทอร์เบิร์ก, แอนเดรียส คอร์นเมเยอร์ และ แจ็ค โรบินสัน ต่อมาก็มี เปปิน ลินเดอร์ส เข้ามาเสริม
ราแฟล โฮไนจ์สตีน ผู้สื่อข่าว-นักเขียนชาวเยอรมัน บันทึกในหนังสือ “Bring the Noise” ชีวประวัติ เยอร์เกน คล็อปป์ ระบุว่า บูวัช ลาออกจากตำแหน่ง สาเหตุที่แท้จริงของการลาออกคือ “สตาฟฟ์ทุกคนของ ลิเวอร์พูล สัมผัสได้เองว่าจากเดิม บูวัช ที่ปกติเป็นพูดน้อยอยู่แล้วกลับดูเงียบลงไปจนไม่พูดอะไรเลยในช่วงหลัง บูวัช เริ่มรู้สึกไม่พอใจกับการที่ ลินเดอร์ส มีอิทธิพลในสูงขึ้น ซึ่งเหตุผลก็มาจากการที่ ลินเดอร์ส มีบุคลิกที่ผ่อนคลาย เป็นที่ชื่นชอบของนักเตะ นั่นเองบั่นทอนความสัมพันธ์ของ บูวัช, คล็อปป์ จนทั้งคู่ไม่สามารถร่วมงานกันได้อีกแล้ว”
ลินเดอร์ส ไม่ใช่คนเดียวที่โดนเขม่น สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นซึ่งเกาะติด ลิเวอร์พูล เอฟซี เคยรายงานว่า บูวัช ไม่กินเส้น แอชเทอร์เบิร์ก โค้ชผู้รักษาประตู ซึ่งไม่แน่ชัดว่า “เกาเหลา” เกิดเพราะสาเหตุใด แต่ที่ชัดเจนก็คือนิสัยแบบนี้ของ บูวัช บวกกับบุคลิกที่เงียบเฉยจนเหมือนเย็นชา ทำให้เขาไม่เข้ากับกลุ่มเพื่อนและเป็นสาเหตุให้แตกแยกกับสตาฟฟ์คนอื่น
เป็นไปได้หรือไม่ว่า สเวน มิสลินทัต ก็ทราบถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกันเหล่านี้ จึงฉวยโอกาสทาบทาม เซลช์โก บูวัช ที่อาจกำลังเบื่อสถานะอันดับ 2 (ที่ร่อแร่จะตกเป็นอันดับ 3) ให้ก้าวขึ้นสู่การเป็น เฮดโค้ช เต็มตัว ซึ่งนั่นดูจะไม่ใช่มารยาทที่เหมาะสม และไม่มีทางที่ เยอร์เกน คล็อปป์ จะยินยอมพร้อมใจ
บูวัช กระเด็นไปแล้ว ลินเดอร์ส เลื่อนขึ้นมาแทน ซึ่งเชื่อว่าบรรดา “เดอะ ค็อป” ไม่ผิดหวังและหมดกังวลต่อเป้าหมายไล่ล่าเกียรติยศของสโมสร ทุกคนมีความมั่นใจมากขึ้น สอดคล้องกับ คล็อปป์ ที่สรรเสริญถึง ลินเดอร์ส อย่างสวยหรูว่า “ผมสามารถเขียนหนังสือเกี่ยวกับข้อดีของเขาได้หลายเล่ม การมองโลกในแง่ดีของเขาส่งต่อสู่คนรอบข้าง มันมีอิทธิพลยิ่งใหญ่และในสนามซ้อมนั้นเขาก็ยอดเยี่ยมมาก”
บูวัช จะได้เห็นข้อความเหล่านี้หรือไม่ หรือเขาอาจตัดขาดไม่รับรู้เรื่องราวจาก แอนฟิลด์ อีกแล้ว และถ้าได้เห็นจะรู้สึกอย่างไร อิจฉา (เหมือนตามสื่อรายงาน) หรือนิ่งเฉยปล่อยวาง
“บูวัช ไป(อยู่)ไหน ?” …เชื่อว่าปัจจุบันคงยังมีถามไถ่กันประปราย เพียงอารมณ์วันนี้ไม่เหมือนวันนั้น เพราะวันนี้มันเป็นเพียงคำถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ แค่อยากรู้ความเป็นไปของคนเคยรัก แตกต่างจากครั้งนั้น คำถามนี้เจือความวิตกกังวลต่ออนาคตของสโมสรฟุตบอล “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล
กัปตันโยฮัน