“อาร์นิส” จิตวิญญาณแห่งฟิลิปปินส์ …….

Photo of author

“SEA Games” คือมหกรรมกีฬาของชาติสมาชิกในภาคีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บอกกันแบบเจาะจงให้เห็นภาพก็คือกลุ่มชาติภาคีนี้เป็นภูมิภาคหนึ่งของ ASIA ทั้งทวีปนั่นเอง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะการแข่งขันกีฬาทั้งประเภทสากล (ที่ทั่วโลกคุ้นเคยและรู้จักกติกา) ปะปนกับกีฬาประเทศที่เป็นท้องถิ่น-พื้นเมือง

เหมือนเช่นในอดีตที่เราเคยได้รู้จัก ปันจักสีลัต, กาบัดดี้ เป็นต้น

ซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ปิดฉากเรียบร้อย ฟิลิปปินส์ ในฐานะเจ้าภาพครองเจ้าเหรียญทอง เจ้าเหรียญเงิน ทั้งเจ้าเหรียญรวม ส่วนไทยแลนด์ยืนแป้นเจ้าเหรียญทองแดง ซึ่งมีไม่บ่อยหรอกที่เราจะมีโอกาสเห็น ฟิลิปปินส์ อวดศักดาอย่างอหังการได้ถึงเพียงนี้ ซึ่งกุญแจสำคัญ 1 ดอก เป็นของ “อาร์นิส” ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ กีฬาที่คน “ฟิลิปปิโน” คุ้นเคยและเคยผ่านการถูกแนะนำไปบ้างแล้วใน ซีเกมส์ …อาจจะมีบางท่านพอจำได้บ้าง

อาร์นิส (Arnis) คือกีฬาในกลุ่มพื้นเมือง (เจ้าภาพ) เป็นศิลปะการต่อสู้ที่เน้นใช้อาวุธเป็นหลัก จำพวก มีดสั้น, ท่อนไม้ และดาบ มีระดับขั้นเป็นสายคาดเอวเป็นสีเหมือนกีฬายูโด โดยเริ่มจากสายขาว, สายเหลือง, สายเขียว, สายน้ำเงิน, สายน้ำตาล และสายดำ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1991 อาร์นิส เคยเป็นกีฬาสาธิต โดยในครั้งนั้น ฟิลิปปินส์ เป็นเจ้าภาพ แต่กว่าจะได้จัดให้ชิงเหรียญทองกันแบบทางการครั้งแรกก็ใน ซีเกมส์ ปี 2005 หรืออีก 14 ปีต่อมา (แน่นอนว่าเจ้าภาพก็คือ ฟิลิปปินส์) ครั้งนั้นชิงกัน 6 เหรียญทองพอให้ครึ้มใจเจ้าภาพ แต่ในปี 2019 ฟิลิปปินส์ จัดให้ชิงกันเต็มเหนี่ยว 20 เหรียญทอง (กับการมีชาติที่เข้าร่วมแข่งขันเพียงแค่ 4 ชาติ ประกอบด้วย เวียดนาม, เมียนมา, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์ จึงเท่ากับทั้ง 4 ชาติอย่างน้อยจะได้เหรียญทองแดงแน่นอน เนื่องจากไม่มีรอบชิงอันดับ 3) ก่อนเจ้าภาพกวาดไปหนำใจ 14 เหรียญทอง

ดังนั้น ระหว่าง ซีเกมส์-อาร์นิส จึงไม่ได้แปลกหน้ากันเลยเพราะเริ่มศึกษากันมาแล้วเกือบ 30 ปี ขณะเดียวกันในแง่ประวัติศาสตร์นั้น สามารถสืบค้นเรื่องราวย้อนหลังไปในอดีตไม่น้อยกว่า 500 ปี ซึ่งอยู่ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 หรือหากให้บ่งชัดไปก็คือ ค.ศ.1521 ซึ่งเบาะแสย้อนหลังนี้เกี่ยวพันกับ เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน (ภาษาโปรตุเกส : เฟร์เนา เด มากัลป์ไยช์, ภาษาสเปน : เฟร์นันโด เด มากายาเนส) นักเดินเรือนามกระเดื่อง

เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน เป็นคนโปรตุเกส ทว่าต่อมาเสนอตัวทำงานให้ราชสำนักสเปน ในรัชสมัยกษัตริย์ คาร์ลอส ที่ 5 โดยรับผิดขอบภารกิจค้นหาเส้นทางเดินเรือสู่ “หมู่เกาะเครื่องเทศ” หรือก็คือหมู่เกาะโมลุกกะ ในประเทศอินโดนีเซีย นั่นเอง ซึ่งด้วยภารกิจดังกล่าวทำให้เขาดั้นด้นจากมหาสมุทรแอตแลนติส เข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิก (ชื่อมหาสมุทรนี้ มาเจลลัน ก็ตั้งให้เอง)

สุดยอดนักเดินเรือทั้งหลาย อาทิ ฟรานซิสโก ปิซาร์โร, ฟรานซิส เดรค รวมทั้ง เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน ไม่เพียงมุ่งมั่นจุดหมาย หากระหว่างทางสามารถเก็บเกี่ยวอะไรเพิ่มเติมได้ พวกเขาไม่ลังเลที่จะกระทำภายใต้คำว่า “ในนามของกษัตริย์แห่ง…” ทรัพยากรของดินแดนที่ผ่านจึงมักเป็นของแถม เผื่อเหลือเผื่อขาดหากการสำรวจประสบความล้มเหลว แต่ถ้าดินแดนนั้นอุดมสมบูรณ์ จากทางผ่านมันก็จะกลายเป็น อาณานิคม

ครั้งนั้นบนเส้นทางค้นหาหมู่เกาะเครื่องเทศ เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน พร้อมลูกเรือแวะขึ้นบางเกาะของ ฟิลิปปินส์ เพื่อเสาะหาของแถม แต่ต้องโดนเจ้าถิ่นตอบโต้อย่างหนักหน่วงด้วยวิธีการต่อสู้ที่ผสมผสานได้ทั้งแบบมือเปล่า มีดสั้น ท่อนไม้ สร้างความสะบักสะบอมแก่อาคันตุกะผู้โหยหาเครื่องเทศ อย่างไรก็ตาม ด้วยอาวุธที่ทันสมัยและอานุภาพรุนแรงกว่าอย่างปืนคาบศิลา ทำให้ในที่สุดทัพสเปนก็สามารถสยบการขัดขืนลงได้อย่างราบคาบ แต่ก็แลกด้วยชีวิตของ มาเจลลัน

การรบพุ่งดุเดือดในแบบฉบับชาวเกาะครั้งนั้นเอง เชื่อกันว่าคือ อาร์นิส ในปัจจุบันและหลังจากสเปนยึดครองสำเร็จ อาร์นิส ถูกพัฒนาต่อด้วยการนำวิชาดาบแบบสเปนมาผสมผสาน ผลักดันให้เป็นศิลปะการต่อสู้ที่นอกจากจะใช้อาวุธแล้ว ยังต้องใช้ความเร็วของมือในการปัดป้อง ความคล่องแคล่วของการใช้เท้าเคลื่อนไหวพาร่างกายหลบหลีกด้วย เนื่องจาก อาร์นิส ไม่เพียงทำร้ายฝ่ายตรงข้ามด้วยพละกำลัง แต่การใช้ท่าทางในการเคลื่อนไหวเข้าโจมตีก็มีความสำคัญเช่นกัน

อาร์นิส เป็นคำวิวัฒนาการมาจาก อาร์เนส (Arnés) อันเป็นภาษาสเปนโบราณของคำว่า อาร์มอร์ : เกราะ (Armor) สำหรับชื่อแรกเริ่มเดิมนั้นยังไม่อาจยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นชื่อใดกันแน่ อาทิ คาลิ, เอสคริมา, ปัคคาลิคาลิ

ด้วยความที่เป็นการรบของชาวเกาะ (ฟิลิปปินส์ มีเกาะภายใต้อาณัติกว่า 7,000 เกาะ) ถึงจะเป็นสิ่งเดียวกัน คำเรียกของแต่ละเกาะก็อาจไม่เหมือนกัน หรือกระทั่งฝั่งสเปน ผู้รุกรานในอดีตก็เคยเรียกขานแตกเป็นหลายเสียง อาทิ เอสโตเก (ดาบ), เอสโตคาดา (แทง) ซึ่งแต่ละคำเรียกมีที่มาทั้งจากรูปแบบการจู่โจม ลักษณะการใช้อาวุธ หรือกระทั่งจากอาวุธ ผู้ฝึกฝนการต่อสู้นี้ ยังมีคำเรียกเฉพาะที่เจาะจงทั้งเพศและจำนวน เช่น อาร์นิซาดอร์ (ชายเดี่ยว), อาร์นิซาดอเรส (ชายกลุ่ม), อาร์นิซาดอรา (หญิงเดี่ยว), อาร์นิซาดอราส (หญิงกลุ่ม)

ปัจจุบัน อาร์นิส อาจยังดูมีภาพของความเป็นท้องถิ่น เนื่องจากยังไม่ถูกบรรจุให้แข่งในมหกรรมกีฬาระดับโลก ทว่าในความเป็นจริงก็คือ อาร์นิส มีความเป็นสากลมากขึ้นแล้ว โดยหน่วยงานหลักที่ดูแลชื่อ “WFMAF : สหพันธ์โลกแห่งศิลปะการต่อสู้ (The World Fighting Martial Arts Federation)” เข้ามากำหนดกฎ-กติกากลาง เพื่อจัดระเบียบให้สังคม อาร์นิส หรือกระทั่ง UNESCO องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ก็ยังขึ้นทะเบียน อาร์นิส ให้เป็นมรดกโลก

ความสากลแล้วของ อาร์นิส ยังได้รับการยืนยันผ่านโลกภาพยนตร์ของ บรูซ ลี ราชากังฟูผู้ล่วงลับ โดยผลงานการแส ดงของเขาอย่างน้อย 2 เรื่องคือ Enter the Dragon, Game of Death คิวบู๊ได้รับอิทธิพลมาจากการต่อสู้แบบ ฟิลิปปินส์ นั่นเอง

หลังผ่านกาลเวลานานกว่า 5 ศตวรรษ อาร์นิส คือทั้งวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของ ฟิลิปปินส์ ดังนั้นหากมองอีกแง่ การบรรจุเข้าแข่งใน ซีเกมส์ อาจไม่ใช่เพียงเล่ห์เหลี่ยมของเจ้าภาพที่ใช้เพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่งชาติอื่น อาร์นิส ไม่ใช่แค่ขั้นบันไดไต่ไปยึดครองเจ้าเหรียญทอง แต่นี่คือการใช้ ซีเกมส์ เป็นอีกช่องทางที่ ฟิลิปปินส์ นำเสนอรากเหง้าที่พวกเขาภาคภูมิใจออกสู่สายตาชาวโลก

และหากใครเคยมอง อาร์นิส ระหว่าง ซีเกมส์ แล้วรู้สึกขบขันในความชุลมุน บางทีคำพูดของ แดน อิโนซานโต ชาวอเมริกัน-ฟิลิปปิโน ที่เคยรู้จักกับ บรูซ ลี และแนะนำให้รู้จักกับการต่อสู้นี้ อาจเปลี่ยนความรู้สึกของคุณทั้งยังให้ข้อสรุปแทนความรู้สึกของ ฟิลิปปินส์ ทั้งมวลได้อย่างเข้าใจที่สุด…

“แนวคิดดั้งเดิมของ บรู๊ซ ลี คือต้องการเผยแพร่ให้สาธารณชนได้เห็นว่าศิลปะการต่อสู้มีหลากหลายประเภท และแต่ละประเภทล้วนมีคุณค่า มีความสำคัญตามสภาพแวดล้อมของแต่ละสถานที่” …อาร์นิส ก็เป็นเช่นนั้น มีลมหายใจและเติบโตเคียงข้าง ฟิลิปปินส์ ซึ่งในทางกลับกัน เอกลักษณ์เฉพาะตัวของ อาร์นิส ก็สะท้อนกลับไปยังวิถีในอดีตของ ฟิลิปปินส์ เช่นกัน

กัปตันโยฮัน
หมายเหตุ : แหล่งข้อมูลจาก en.wikipedia.org