แฟรงค์ แลมพาร์ด ใกล้ความจริงที่จะได้รับตำแหน่งผู้จัดการ ของสโมสรที่เขาสร้างตำนานไว้มากมาย แต่ไม่ว่าใครที่ได้นั่งเก้าอี้ตัวนี้ มีสถานการณ์มากมายรอให้พวกเขาเผชิญ ซึ่งวันนี้คือตอน 2 ของบทความพิเศษ “เชลซี กับปรัศนีย์ 5 ประการ ?????”
3.ผู้จัดการของ เชลซี จำเป็นต้องทำอะไรบ้าง หากคิดรักษางานให้มั่นคง?
คำตอบง่ายสุดของคำถามนี้ก็คือ “ทำให้ โรมัน อาบราโมวิช มีความสุขตลอดเวลา”
เป็นคำตอบที่ใช้ไม่กี่อักษร ทว่าแฝงรายละเอียดซับซ้อน เพราะคนรวยมักใจร้อน ใช้เงินซื้อได้ทุกอย่างเช่นเดียวกับที่ใช้เงินแก้ปัญหา จะจ้างใครทำงานก็ได้ จะไล่ใครออกก็แค่จ่ายชดเชยค่าเสียหาย เราจึงเคยเห็นกันแล้วที่ คาร์โล อันเชล็อตติ ทำงานฤดูกาลแรกก็พาสโมสรครอง 2 แชมป์ “พรีเมียร์ลีก+เอฟเอ คัพ” สร้างความสุขให้ โรมัน อาบราโมวิช แต่ฤดูกาลต่อมาก็โดนไล่ออกเพราะไม่อาจรักษารอยยิ้มบนใบหน้าเจ้าของสโมสร
ก็การขับเคี่ยวใน พรีเมียร์ลีก ดุเดือดเลือดพล่าน จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นกุนซือระดับฮ่องเต้ อาทิ อันโตนิโอ คอนเต, หลุยซ์ เฟลิเป สโคลารี ต้องมีสถานภาพโดน “ไล่ออก” ก็ตอนทำงานที่ เดอะ บริดจ์ นี่เอง กระทั่ง โฆเซ มูรินโญ สุดที่รักของแฟนบอล ก็ไม่อาจอยู่รอดปลอดภัยตลอดระยะสัญญาการทำงาน โดยเกือบทั้งหมดของกุนซือในยุคอาณาจักร โรมัน มีอายุงานไม่เกิน 2 ปี
เชลซี เริ่มโดดเด่นขึ้นมาช่วงกลางทศวรรษ 1990 ชื่อเสียงของ เกล็น ฮอดเดิล, รุด กุลลิท ดึงดูดพ่อค้าแข้งฝีเท้าดีได้หลายราย แต่การเข้าครอบครองกิจการสโมสรของ โรมัน อาบราโมวิช ในปี 2003 คือการเริ่มต้นยุคทองอย่างแท้จริงโดย โฆเซ มูรินโญ คือผู้เติมเต็มอาณาจักรนี้ให้สมบูรณ์ด้วย “พรีเมียร์ลีก โทรฟี่” เพียงแต่แนวทางฟุตบอลของ “มู ทีม” เน้นเหนียวแน่นจนน่าอึดอัด ยุทธวิธีแบบนั้นไม่สร้างความสุขให้เจ้าของสโมสร ที่อยากเห็นฟุตบอลบุกมากกว่านี้ ขณะเดียวกันผู้เล่นหลายรายก็เริ่มมีปฎิกิริยาเชิงลบต่อกุนซือ นั่นทำให้ “มู ไทมส์” ทั้ง 2 ภาคจบในลักษณะและเวลาใกล้เคียงกัน
เรียกว่าถ้าไม่สบอารมณ์เจ้าของสโมสร “จำนวนแชมป์” ก็ไม่อาจรับประกันความปลอดภัย แต่ถ้าจะเน้น “รูปแบบ” โดยไร้แชมป์ บอกเลยว่า “ไปแน่” เพราะคำว่า “สไตล์” ไม่ได้สัมฤทธิ์กันในช่วงระยะสั้น ต้องใช้เวลาปลูกฝังบ่มเพาะ เหมือนเช่นที่เราได้เห็นจาก โฆเซป กวาร์ดิโอลา, เยอร์เกน คล็อปป์
4.เชลซี ควรมองหา ผู้อำนวยการฟุตบอล?
ผู้อำนวยการฟุตบอล หรือ ผู้อำนวยการกีฬา (Director of Football, Sporting Director) เป็นตำแหน่งค่อนข้างใหม่แต่เติบโตเร็วมากในวงการฟุตบอลอังกฤษ เพราะแต่ไหนแต่ไร ฟุตบอลอาชีพของเกาะมหาสมบัติ จะมีตำแหน่งผู้จัดการ (Manager) รับเหมางานทุกมิติที่เกี่ยวพันกับนักเตะ ไล่ตั้งแต่พิจารณาคุณสมบัติ, เจรจาซื้อ-ขาย, ควบคุมการฝึกในสนามซ้อม และ สั่งการข้ามสนามในวันแข่งจริง
ฤดูกาล “พรีเมียร์ลีก 2018-2019” มีเพียง 4 สโมสรได้แก่ ไบรก์ตัน, คาร์ดิฟฟ์, เบิร์นลีย์ และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ไม่มี ผู้อำนวยการฟุตบอล ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พัฒนาจากรูปแบบโครงสร้างกีฬาอาชีพของฝั่งอเมริกา โดยบทบาทคือกำหนดทิศทางสโมสร กำหนดเป้าหมายการทำงานแต่ละปี และวางเป้าหมายระยะยาวของสโมสร ดังนั้น Director of Football ต้องทำงานใกล้ชิดกับ Manager และเหมือนเป็นคนเชื่อมระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายปฎิบัติการ อย่างไรก็ตาม “ผู้อำนวยการ” ในวงการฟุตบอลนั้นมีหลายตำแหน่ง
ย้อนกลับไประหว่าง ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก คู่ชิงชนะเลิศฤดูกาลที่เพิ่งจบไป แน่ละว่าใจความสำคัญ “Main Plot” อยู่ที่ผลการแข่งขัน แต่ในวันนั้นที่เมืองหลวงของ อาเซอร์ไบจาน มันยังมีโครงเรื่องรองซ่อนอยู่อีกหลายเรื่อง หนึ่งใน “Sub-Plots” ที่ซ่อนไว้ก็คือ การสนทนาระหว่าง เชลซี-ปีเตอร์ เช็ก
ปีเตอร์ เช็ก วัย 37 ปีนายทวาร อาร์เซนอล เป็นที่รู้จักดีว่าคือหนึ่งในขุนพลระดับแกนนำของ เชลซี ยุครุ่งเรืองเคียงข้าง จอห์น เทอร์รี, แฟรงค์ แลมพาร์ด, ดิดิเยร์ ดร็อกบา (เขาตั้งใจไว้แล้วว่านัดระหว่าง เชลซี-อาร์เซนอล จะเป็นนัดสุดท้ายในอาชีพ) ซึ่งสาระสำคัญในวงสนทนาก็คือ ฝ่ายบริหาร เชลซี ทาบทามอดีตนายทวารให้หวนคืน “เดอะ บริดจ์” อีกครั้ง โดยเตรียมตำแหน่ง Technical Director ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค ไว้ให้รับผิดชอบ
ผู้อำนวยการเทคนิค หรือประธานเทคนิค สำหรับวงการกีฬาประเภท TEAM นั้นจะคอยดูแลและประเมินนักกีฬาทุกรุ่นทุกชุด ตั้งแต่ระดับเยาวชนขึ้นมากันเลย รวมทั้งสตาฟฟ์โค้ชทุกคนตั้งแต่ล่างสุดจนถึง “เฮดโค้ช”
สำหรับตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอล เชลซี เดิมเป็นของ ไมเคิล เอเมนาโล ในช่วงปี 2011-2017 แต่ปัจจุบันยังถูกแขวนป้าย “ว่าง” โดยหน้าที่เจรจาสัญญาซื้อ-ขายผู้เล่น ตกเป็นของ มารินา กรานอฟสกายา ผู้อำนวยการทั่วไป ซึ่งความสามารถในส่วนนี้ยังอ่อนด้อยอยู่ แถมยังเคยมีปัญหากับ อันโตนิโอ คอนเต กุนซืออิตาเลียนอีกราย ที่มีบุคลิกยอมหักไม่ยอมงอ
5.จะสามารถรักษาบรรยากาศในห้องแต่งตัว หรือไม่?
สันนิษฐานว่า หากจะมีกลุ่มผู้เล่นสโมสรใดรวมหัวเตะไล่โค้ชจริงล่ะก็ เชลซี น่าจะมีชื่อเอี่ยวกับเขาด้วย ดังสังเกตจากเหตุการณ์หลายครั้งในอดีต เมื่อบรรยากาศในสโมสรคลุมเครือ มีเสียงลือรอยร้าวในสัมพันธภาพระหว่าง เจ้าของสโมสร-ผู้ฝึกสอน ผู้เล่น-ผู้ฝึกสอน หรือระหว่าง เจ้าของสโมสร, ผู้เล่น-ผู้ฝึกสอน เมื่อนั้น เชลซี มักผลิตผลการแข่งขันที่ผิดความคาดหมายออกมาหลายนัด โดยไม่มีเหตุผลใดสามารถอธิบายได้ บางครั้งบุคคลวงนอกถึงกับลือว่า นักเตะรับงานเจ้าของเพื่อไล่เฮดโค้ช บางกรณีจะเห็นเจ้าของสโมสรสนับสนุนฝ่ายนักเตะโดยไม่ยอมปกป้องฝ่ายเฮดโค้ช แม้สักน้อย
โชเซ มูรินโญ คนพิเศษหนึ่งเดียวคนนั้น คราวห้วงใกล้อวสานภาคแรก เมื่อความขัดแย้งกับนักเตะบานปลายมากขึ้นจนถึงขั้นระอุรอแตกหัก โรมัน อาบราโมวิช เคยถืออำนาจแบบรัฏฐาธิปัตย์ บุกเข้าห้องแต่งตัวกลางวงขัดแย้งมาแล้ว ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน กุนซือโปรตุกีสก็ต้องแยกทางกับ เชลซี แม้ต่อมาจะมีภาค 2 ทว่าบทลงเอยก็บอบช้ำไม่ต่างจากเดิม
เมาริซิโอ ซาร์รี นั้นไม่แน่ชัดว่าเจอบรรยากาศแบบไหนบ้างในห้องแต่งตัว แต่ก็พอจับสังเกตได้จากอากัปกิริยาที่แสดงออก เชื่อว่ามีความอึมครึมอยู่เป็นระยะ อาจไม่ถึงขั้นร้าวฉานแต่ก็กัดกร่อนใจไม่น้อย
จะเห็นได้ว่าอาชีพผู้จัดการ (ผู้ฝึกสอน เทรนเนอร์ เฮดโค้ช …แล้วแต่จะเรียก) ต้องมีทักษะในการผสมผสานศาสตร์-ศิลป์ หลากหลาย นั่นคือต้องเชี่ยวชาญแผนการเล่น รู้จักถ่ายทอดแผนไปสู่ผู้เล่น รักษาความสัมพันธ์กับผู้เล่นและฝ่ายบริหารไว้ได้อย่างราบรื่น ที่สำคัญคือต้องรู้จักยืดหยุ่น อ่านสถานการณ์เฉียบขาดว่าเมื่อใดต้องแข็งกร้าว คราวใดสมควรอ่อนโยน
ท้ายสุดของบทความนี้ ขออาลัยการจากไปของพี่ “อ้วน-พรศักดิ์ เขมทัศน์” หรือนามปากกา “เพลย์เมกเกอร์” และแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสีย ส่วนตัวผู้เขียนไม่ได้สนิทสนมกับพี่อ้วน แต่อย่างน้อยก็ครั้ง-สองครั้ง เคยร่วมวงสนทนาที่ร้านไส้ย่างในตำนานแถวรัชโยธิน ซึ่งสัมผัสได้ถึงความน่ารักและแจ่มใส เชื่อว่าพี่อ้วนจะสู่สุคติบนเส้นทางใหม่
ฟีนิกซ์ วิหคเพลิง
หมายเหตุ : บทความนี้อ้างอิงจาก “Chelsea: Maurizio Sarri exit – five questions Blues must answer” โดยสำนักข่าว บีบีซี แผนกกีฬาฝ่ายฟุตบอล