อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน (ขณะยังไร้บรรดาศักดิ์ “เซอร์” นำหน้าชื่อ) วันเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตอนนั้น “ปีศาจแดง” สถิติแชมป์ลีกสูงสุดไม่งอกเงยจาก 7 สมัยมานาน 26 ปี ขณะเดียวกัน “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล คู่ปรับตลอดกาล อยู่ในยุคทองสะสมแชมป์ลีกสูงสุด 18 สมัย ก่อนจะถูก “แช่แข็ง”
“ปีศาจแดง” ครองแชมป์ลีกสูงสุดได้รวม 20 สมัย แซงอริตลอดกาลขึ้นอันดับ 1 ทำเนียบแชมป์ตลอดกาล จนทำให้ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน สามารถลงจากตำแหน่งได้อย่างปล่อยวาง ทว่าจากนั้นจำนวนแชมป์ลีกของมุมแดงแห่งนครแมนเชสเตอร์ “นิ่งสนิท” เช่นกัน
ฤดูกาล 2018-2019 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทำได้แค่ยืนกำหมัดทนมอง ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี ขับเคี่ยวแย่งแชมป์ที่บทสรุปคือ อริสำคัญ 2 รายของพวกเขาสร้างมาตรฐานอันสูงส่งโดย ลิเวอร์พูล ตลอดฤดูกาลแพ้เพียง 1 นัด กอบโกย 97 คะแนน แต่แชมป์คือ แมนเชสเตอร์ ซิตี ที่เบียดเข้าป้ายอันดับ 1 ด้วย 98 คะแนน
พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2019-2020 ผ่าน 8 นัดแรก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กำลังสร้างสถิติ “ออกตัว” เลวร้ายสุดในรอบ 30 ปี ด้วยการชนะ 2 เสมอ 3 แพ้ 3 ยิงได้ 9 ประตู (นอริช ซิตี อันดับ 19 ยังสามารถกระทุ้งแล้ว 10 ประตู) โดนสอยไป 8 ประตู มี 9 คะแนน ทำได้แค่มองหัวตารางคือ แมนเชสเตอร์ ซิตี ที่ห่าง 7 คะแนนและชะเง้อดู ลิเวอร์พูล ที่ไกลออกไป 15 คะแนน แต่พวกเขาอยู่ใกล้ “เขตอันตราย” แค่เอื้อมมือถึงกัน จากการที่ เอฟเวอร์ตัน อันดับ 18 มี 7 คะแนน
ซึ่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ (27 ก.พ. บุกทุบ คริสตัล พาเลซ) แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ชนะใครเลยกับนัดเยือนของฟุตบอลรายการภายในประเทศ และตั้งแต่กระหน่ำแทง เชลซี 4-0 พวกเขายังไม่เคยล่อเป้าใครได้เกิน 1 ประตู/นัด
ตอนนี้เข้าสู่ห้วง “ฟีฟ่า เดย์” สโมสรเว้นวรรคให้ทีมชาติราวีกันบ้าง เป็น 2 สัปดาห์ว่างที่เข้ามาในจังหวะเหมาะสมสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ นี่คือโอกาสที่ปลอดโปร่งต่อการนั่งทบทวนผลงานที่ผ่านไปและไตร่ตรองเตรียมรับมืออนาคตที่กำลังจะผ่านมาเข้ามา เพราะหลังจากหมด “ฟีฟ่า เดย์” แชมป์ 20 สมัยจะเปิด โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ต้อนรับแชมป์ 18 สมัย ในสถานการณ์ที่ฝ่ายแรกอยู่ใกล้เขตอันตราย ฝ่ายหลังยึดหัวตารางโดยทิ้งอันดับ 2 แมนฯ ซิตี 8 คะแนน ขณะฤดูกาลผ่านไป 8 นัด
“แดงเดือด” เที่ยวแรกของฤดูกาล จึงมาพร้อมความบีบคั้นอารมณ์ที่รวดเร็ว เพราะผลลัพธ์จะกระเพื่อม “อิมแพค” ต่อ 3 ฝ่าย แนวคิดของ 2 กุนซือคู่สัประยุทธ์จะกำหนด “เกมแพลน” น่าสนใจว่าคนที่แบกความกดดันมากสุดคือ โซลชาร์ นั้นจะเลือกแผนใด “เพลย์ เซฟ” ขอ 1 คะแนนไว้ก่อน ตั้งรับรอโต้กลับเผื่อ 3 คะแนน โบนัส หรือบุกเต็มรูปแบบ “แพ้การรบแต่ชนะใจกองเชียร์”
ส่วนจ่าฝูงนั้นแค่กลมกลืนไปกับสถานการณ์ รอความผิดพลาดของอีกฝ่ายแล้วฉวยคว้าให้ได้ เหมือนเช่นที่ผ่านมา (เมื่อไม่กี่วันก่อนก็ได้สาธิตให้เห็นกับ เลสเตอร์ ซิตี) คือถ้าไม่พลาดโดนก่อน ลิเวอร์พูล จะไม่แพ้แน่นอน และผลของศึกที่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด จะเหวี่ยงตรงทันทีไปยัง แมนฯ ซิตี ไม่ว่าจะเป็นแง่ลบหรือบวก
คณะกรรมการบริหารสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพิ่งประชุมกันเพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนที่ เอ็ด วูดเวิร์ด รองประธานฝ่ายบริหาร จะออกมายืนยันมติว่าคณะฯ ยังให้การสนับสนุน โซลชาร์
ถึงกระนั้น โซลชาร์ ย่อมตระหนักดีที่สุดว่า มติคณะกรรมการบริหาร ออกมาแบบนั้นเพียงเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด กุนซือหน้า (เฒ่า) ทารก เองคือผู้ซึ้งใจที่สุดแล้วว่าตำแหน่งของเขามั่นคงเพียงใด และอะไรก็เกิดขึ้นได้หากพ่ายศึกที่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด 20 ต.ค. นี้
ย้อนกลับไปไม่ถึง 1 ปี ก่อนหน้านี้ โฆเซ มูรินโญ หลังจากนำ “ปีศาจแดง” ดำเนินชีวิตอย่างกระท่อนกระแท่น จนกระทั่งวันที่ 16 ธ.ค. 2018 เส้นฟางสุดท้ายขาดผึงเมื่อ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยกพลไปแพ้ ลิเวอร์พูล 1-3 อย่างหมดจด จากนั้นอีกเพียง 2 วัน คำสั่งเชือดเทรนเนอร์ปากคม ก็มีออกมาในวันที่ 18 ธ.ค. โดยขณะนั้น แมนฯ ยูฯ รั้งอันดับ 6 ของตาราง ตามหลังจ่าฝูง ลิเวอร์พูล 19 คะแนน
กลางเดือนธันวาคม 2018 แมนฯ ยูฯ ตามหลัง ลิเวอร์พูล 19 คะแนน แต่ในยุค โซลชาร์ หากนำทีมแพ้ในนัดต่อไป พวกเขาจะตามหลังอริตลอดกาล 18 คะแนน ตั้งแต่ยังไม่จบเดือนตุลาคม ของปี 2019 …โซลชาร์ จะฝ่าวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร ?
กัปตันโยฮัน
หมายเหตุ : เรียบเรียงจาก “Man Utd: How bad is the latest crisis for Ole Gunnar Solskjaer’s side?” โดยสำนักข่าว บีบีซี