“พรีเมียร์ลีก” ฟุตบอลลีกที่มูลค่าการตลาดสูงที่สุดในปฐพี จะเริ่มเปิดฤดูกาล 2019-2020 กันในสุดสัปดาห์นี้แล้ว เบิกโรงกันด้วย “นกขมิ้นเหลืองอ่อน” นอริช ซิตี แชมป์จากเดอะ แชมเปี้ยนชิพ ประเดิมเจองานหินเมื่อต้องเยือน “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล รองแชมป์พรีเมียร์ลีก เจ้าของสถิติ 97 คะแนนยังแห้ว (เชลซี เคยทำ 95 คะแนน ยังได้ฉลองแชมป์)
ตามที่เกริ่นในย่อหน้าแรกว่า นี่คือฟุตบอลสโมสรอาชีพที่ผลประโยชน์มหาศาล ความเข้มข้นจึงไม่จำกัดแต่การแย่งแชมป์ของกลุ่มบน แต่การหนีตายของกลุ่มล่างก็ดุเดือดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะทุกสโมสรล้วนต้องการมีส่วนแบ่งตักตวงขุมสมบัตินี้
ในครั้งล่าสุดที่ แอตเลติโก มาดริด โผล่ขึ้นฟาดแชมป์ ลา ลีกา มีการเปิดเผยข้อมูลว่าสโมสร “ตราหมี” มีรายรับจากการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ น้อยกว่าสโมสรอันดับ 20 พรีเมียร์ลีก ในปีเดียวกัน (ที่ตกชั้น) ด้วยซ้ำ ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งคือการจัดสรรส่วนแบ่งที่ไม่เป็นธรรม ไม่เพียง แอตฯ มาดริด เพราะสโมสรดังรายอื่น อาทิ บาเลนเซีย, เซบีญา, บียาร์รีล ต่างมีฐานะขัดสนแตกต่างจากชื่อเสียงสโมสร โดยมีเพียง เรอัล มาดริด, บาร์เซโลนา ที่อิ่มหนำสำราญ
“ขุมทรัพย์ พรีเมียร์ลีก” มีขนาดใหญ่โตมโหฬารแค่ไหน ขอยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายและชัดเจนดังนี้
เว็บไซต์ทางการของ พรีเมียร์ลีก เปิดเผยว่า บริษัท พีพีทีวี ดิจิตอล จำกัด ในเครือข่ายของกลุ่มทุน “ซูหนิง” ซึ่งมีมหาเศรษฐีชาวจีน “แจ็ค หม่า” เป็นหุ้นส่วนใหญ่ ทุ่มเงินซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ในราคาแพงที่สุดในโลก โดยระยะของสัญญาคือ 3 ฤดูกาลข้างหน้า เริ่มตั้งแต่ ค.ศ.2019-2020, ค.ศ.2020-2021 ไปสิ้นสุด ค.ศ.2021-2022 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 24,500 ล้านบาท) ลบสถิติล่าสุดของเครือข่ายโทรทัศน์ “เอ็นบีซี” ที่ซื้อลิขสิทธิ์เพื่อถ่ายทอดสดในสหรัฐอเมริกา 3 ฤดูกาลข้างหน้า ซึ่งเป็นเงินทั้งสิ้น 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 17,500 ล้านบาท)
นับเป็นความเติบโตแบบพุ่งทะยานของ พรีเมียร์ลีก ในระยะเวลาห่างกันแค่ไม่กี่ปี เพราะก่อนหน้านี้ “ซูเปอร์ สปอร์ต มีเดีย กรุ๊ป” กลุ่มธุรกิจอีกรายของประเทศจีน เพิ่งซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด พรีเมียร์ลีก 3 ฤดูกาล เริ่มตั้งแต่ ค.ศ.2016-2017, ค.ศ.2017-2018 สิ้นสุด ค.ศ.2018-2019 โดยตอนนั้นปลิ้นเงินออกจากกระเป๋ารวมทั้งสิ้นเพียง 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,100 ล้านบาท)
ฟุตบอลลีก ทุกฤดูกาลมีเรื่องใหม่เกิดขึ้นตลอด อย่างน้อยที่แน่นอนตลอดก็คือ สมาชิกใหม่ที่เลื่อนชั้นขึ้น กับสมาชิกเก่าที่ร่วงลงไปแทน สำหรับ พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2019-2020 ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ประกอบด้วย นอริช ซิตี, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และ แอสตัน วิลลา ที่ก้าวขึ้นจาก เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ในฐานะแชมป์ฤดูกาลปกติ, รองแชมป์ฤดูกาลปกติ และแชมป์เพลย์ ออฟส์ ตามลำดับ
ตั้งแต่ฤดูกาล 1992-1993 ลีกสูงสุดอังกฤษเลิกใช้ชื่อ ดิวิชั่น 1 นั่นคือหน้าแรกของประวัติศาสตร์ พรีเมียร์ลีก โดยมีสมาชิกก่อตั้ง 22 สโมสร คิวแข่งตลอดฤดูกาล 40 นัด และต่อมาในปี 1995 ลดสมาชิกเหลือ 20 สโมสร เช่นเดียวกับคิวแข่งตลอดฤดูกาลที่ลดเหลือ 38 นัด
ความจริงจากอดีต ฟ้องให้เรารู้ว่าทุกฤดูกาลจะต้องมีน้องใหม่อย่างน้อย 1 ราย ที่เลื่อนขึ้นมาสัมผัส พรีเมียร์ลีก เพียง 1 ฤดูกาลแล้วก็ต้องหล่นไปตั้งหลักใหม่ใน เดอะ แชมเปี้ยนชิพ โดยสถิติที่ผ่านมาบอกว่า สโมสรที่ขึ้นมาในฐานะแชมป์ มี 67 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ตกชั้นในฤดูกาลแรก รองลงมาคือสโมสรจากเพลย์ ออฟส์ มี 61 เปอร์เซ็นต์ สามารถเอาตัวรอดปลอดภัยเกิน 1 ฤดูกาล ส่วนรองแชมป์จากเดอะ แชมเปี้ยนชิพ มีสัดส่วนเพียง 42 เปอร์เซ็นต์ ที่รักษาสถานภาพในระดับสูงสุดเกิน 1 ฤดูกาล หรือมองอีกมุมกลับกันก็คือ รองแชมป์ของ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ เดี้ยงตั้งแต่ฤดูกาลแรกในสัดส่วนสูงถึง 58 เปอร์เซ็นต์
นี่คือข้อมูลที่แสดงว่าผู้ขึ้นมาในฐานะรองแชมป์ ส่วนใหญ่มักไปก่อนผู้ที่กระเสือกกระสนผ่าน เพลย์ ออฟส์ และหากรวมการเลื่อนชั้นที่เคยเกิดขึ้นใน พรีเมียร์ลีก ทั้งหมด 71 ราย มี 40 รายที่รอดสำเร็จกับชีวิตบนระดับสูงสุดฤดูกาลแรก และมีเพียง 3 ฤดูกาลคือ 2001-2002, 2011-2012, 2017-2018 ที่บรรดาน้องใหม่ “ได้ไปต่อ” กันครบถ้วน
น้องใหม่ที่คึกคะนองสุดในประวัติศาสตร์ พรีเมียร์ลีก (เริ่มนับตั้งแต่ฤดูกาล 1995-1996 ที่ระบบการแข่งปรับเป็น 38 นัด : ฤดูกาล จนถึงปัจจุบัน) ต้องยกให้ “อิปสวิช ทาวน์” ม้าขาวแห่งย่าน อีสต์ แองเกลีย ผ่านการ เพลย์ ออฟส์ ทะยานสู่ “ท็อป ลีก” โดยในฤดูกาล 2000-2001 พวกเขาจบฤดูกาลแรกบน พรีเมียร์ลีก ด้วยการโกย 66 คะแนน คว้าอันดับ 5 พร้อมสิทธิ์เข้ารอบคัดเลือกรายการสโมสรทวีป “ยูฟ่า คัพ” (ปัจจุบันคือ ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก) ส่วนน้องใหม่ที่ดีสุดอีก 4 ลำดับถัดไป ได้แก่ ซันเดอร์แลนด์ (ฤดูกาล 1999-2000, อันดับ 7, 58 คะแนน), วูล์ฟแฮมป์ตัน (ฤดูกาล 2018-2019, อันดับ 7, 57 คะแนน), เรดดิง (ฤดูกาล 2006-2007, อันดับ 8, 55 คะแนน) และ เวสต์แฮม (ฤดูกาล 2005-2006, อันดับ 9, 55 คะแนน) ซึ่งแบ่งตามสถานภาพการเลื่อนชั้นจะพบว่า ซันเดอร์แลนด์, วูล์ฟแฮมป์ตัน, เรดดิง ขึ้นมาในฐานะแชมเปี้ยน ขณะที่ อิปสวิช ทาวน์, เวสต์แฮม ยูไนเต็ด เหน็ดเหนื่อยขึ้นมาจากการ เพลย์ ออฟส์
ในกลุ่มสุดยอดน้องใหม่ วูล์ฟแฮมป์ตัน หว่านเงินเสริมทัพมากสุดคือ 80.1 ล้านปอนด์ รองลงมาคือ เวสต์แฮม 18.9 ล้านปอนด์, เรดดิง 8.3 ล้านปอนด์, อิปสวิช 4.6 ล้านปอนด์ และ ซันเดอร์แลนด์ 4.1 ล้านปอนด์ ตามลำดับ ซึ่งจำนวนเงินที่จับจ่ายในตลาดนักเตะเป็นไปตามกลไกตลาดแต่ละช่วง ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ซันเดอร์แลนด์ น่าจะต้องลงทุนซื้อนักเตะใหม่ได้ไม่น้อยกว่า 40 ล้านปอนด์
หันไปดูอีกฝั่ง น้องใหม่ที่ผลงานฝันร้ายสุดในประวัติศาสตร์ พรีเมียร์ลีก (เริ่มนับตั้งแต่ฤดูกาล 1995-1996 ที่ระบบการแข่งปรับเป็น 38 นัด : ฤดูกาล จนถึงปัจจุบัน) ก็คือ ดาร์บี เคาน์ตี ที่ตลอดฤดูกาล 2007-2008 ชนะเพียง 1 นัด หยิบไปได้หยุมหยิม 11 คะแนน จบฤดูกาลในอันดับ 20 ส่วนอีก 4 อันดับที่ผลงานห่วยรองลงไปก็ได้แก่ ซันเดอร์แลนด์ (ฤดูกาล 2005-2006, อันดับ 20, 15 คะแนน), วัตฟอร์ด (ฤดูกาล 1999-2000, อันดับ 20, 24 คะแนน), ฟูแลม (ฤดูกาล 2018-2019, อันดับ 19, 26 คะแนน) และ เวสต์ บรอมวิช (ฤดูกาล 2002-2003, อันดับ 19, 26 คะแนน)
ในส่วนของการเสริมทัพนั้น ฟูแลม ระเบิดคลังอย่างคลุ้มคลั่ง 100.1 ล้านปอนด์ ถัดไปก็คือ ดาร์บี เคาน์ตี 15.7 ล้านปอนด์, เวสต์ บรอมวิช 1.3 ล้านปอนด์, ซันเดอร์แลนด์ 4.1 ล้านปอนด์ และ วัตฟอร์ด 2.8 ล้านปอนด์ โดยในกลุ่มนี้ ซันเดอร์แลนด์ ขึ้นมาจาก เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ในฐานะแชมป์ เวสต์ บรอมวิช ในฐานะรองแชมป์ ส่วนอีก 3 สโมสร คว้าสิทธิ์มาด้วยการ เพลย์ ออฟส์
จะเห็นว่าจำนวนเงิน Shopping ไม่ใช่ปัจจัยหลักรับประกันความสำเร็จ ตัวอย่างก็คือ ซันเดอร์แลนด์ ฤดูกาล 1999-2000 ใช้เงินเสริมทัพ 4.1 ล้านปอนด์ เท่ากับฤดูกาล 2005-2006 ทว่าลงเอยในสภาพแตกต่างกันสิ้นเชิง หรือเปรียบเทียบเห็นภาพชัดเจนสุด เพราะเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานในฤดูกาล 2018-2019 ได้แก่ วูล์ฟแฮมป์ตัน (80.1 ล้านปอนด์), ฟูแลม (100.1 ล้านปอนด์) ทั้ง 2 สโมสรลงทุนบ้าคลั่งใกล้เคียงกัน ทว่าผลลัพธ์แตกต่างลิบลับ ฝ่ายหนึ่งได้ตั๋วลุยสโมสรยุโรป แต่อีกฝ่ายล้มกลิ้งไปตั้งหลักใหม่ในจุดที่ต่ำกว่า
เมื่อการเสริมทัพชนิดงบประมาณไม่อั้น ยังไม่อาจรับประการการอยู่รอด แล้วจะมีกลเด็ดเคล็ดลับใดอื่นอีกหรือไม่ ที่ช่วยยืดอายุน้องใหม่บนสนามรบที่ชื่อ พรีเมียร์ลีก
บางทีคำตอบอาจอยู่ใน “Allardyce Blueprint” …ตำราว่าด้วยการอยู่รอดที่บัญญัติโดย แซม อัลลาไดซ์
“พิมพ์เขียวของ อัลลาไดซ์” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นที่เล่าขานกันมานานแล้ว แต่การทำความรู้จัก คงจะเกิดขึ้นในตอนต่อไป
กัปตันโยฮัน
หมายเหตุ : ข้อมูล-ภาพประกอบจาก premierleague.com, skysports.com, talksport.com, wikipedia.org