“3 น้องใหม่” ฝ่าอันตราย พรีเมียร์ลีก กับคัมภีร์หนีตายฉบับ “อัลลาไดซ์” (2)

Photo of author

“พรีเมียร์ลีก 2019-2020” จบนัดแรกของฤดูกาล ก็ได้ทราบชะตากรรมของกลุ่มน้องใหม่ไปแล้วว่าเกือบเป็นศพครบทุกราย ในการนัดกันออกเยือน

ไล่ตั้งแต่ นอริช ซิตี ที่โดนขยี้ยับ 1-4 ทั้งที่ทรงบอลก็ออกอาวุธตอบโต้ ลิเวอร์พูล ได้เป็นระยะ ขณะที่ แอสตัน วิลลา เข้าขั้นเละเทะในการปะทะ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ขอยืนยันว่าคู่นี้ ผลแข่งสะท้อนความจริงในสนามออมาตรงชัดเป๊ะ จะมีก็เพียง เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ที่ประคองชีวิตออกมาได้จากบ้าน บอร์นมัธ (แต่ก็แบบจวนจะอาเจียน กว่าจะได้ บิลลี ชาร์ป ช่วยยิงประตูกู้ 1 คะแนน ก็เป็นนาที 88)

ไปไล่ดูสถิติน่าสนใจ เปรียบเทียบของแต่ละคู่กัน

ลิเวอร์พูล 4-1 นอริช ซิตี …โอกาสยิง 13 : 10, ยิงตรงกรอบ 7 : 6, ครองบอล (ร้อยละ) 56 : 44, เตะมุม 11 : 2
ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ 3-1 แอสตัน วิลลา …โอกาสยิง 18 : 6, ยิงตรงกรอบ 7 : 4, ครองบอล (ร้อยละ) 72 : 28, เตะมุม 14 : 0
เอเอฟซี บอร์นมัธ 1-1 เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด …โอกาสยิง 7 : 5, ยิงตรงกรอบ 2 : 3, ครองบอล (ร้อยละ) 53 : 47, เตะมุม 3 : 4

จะเห็นได้ว่าคู่ชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาลที่แล้ว พร้อมกันสำเร็จโทษน้องใหม่ได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยเฉพาะ “สเปอร์ส” สามารถกด แอสตัน วิลลา จนแทบไม่มีโอกาสโงศีรษะขึ้นมาโต้เถียง ส่วนกรณี เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ถือว่าทำได้ดีกับการยังมีคะแนนจากคู่ต่อสู้ที่ไม่แกร่งนัก แต่วันที่ 31 ส.ค. พวกเขามีกำหนดเยือน เชลซี ที่นับเป็นคู่ต่อสู้รายแรกจากกลุ่มลุ้นแชมป์

“กลุ่มลุ้นแชมป์” อันประกอบด้วย แมนเชสเตอร์ ซิตี, ลิเวอร์พูล, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์, อาร์เซนอล, เชลซี และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พวกคุณคิดว่าบรรดาน้องใหม่ จะไขว่คว้ามาจาก “ท็อป ซิกซ์” ได้สักกี่คะแนน จากทั้งหมดที่มีให้เก็บเต็ม 36 คะแนน แบบไป-กลับ เหย้า-เยือน

ย้ำอีกครั้งตรงนี้ว่า ตั้งแต่ พรีเมียร์ลีก ใช้โครงสร้าง 20 สโมสรเมื่อปี 1995 มีเพียง 3 ฤดูกาลคือ 2001-2002, 2011-2012, 2017-2018 ที่บรรดาน้องใหม่ “ได้ไปต่อ” กันครบถ้วน ดังนี้
ฤดูกาล 2001-2002 : แบล็คเบิร์น (อันดับ 10) ฟูแลม (อันดับ 13) โบลตัน (อันดับ 16)
ฤดูกาล 2011-2012 : สวอนซี (อันดับ 11) นอริช (อันดับ 12) ควีนส์พาร์ค (อันดับ 16)
ฤดูกาล 2017-2018 : นิวคาสเซิล (อันดับ 10) ไบรก์ตัน (อันดับ 15) ฮัดเดอร์สฟิลด์ (อันดับ 16)

ขณะเดียวกันก็มีมากถึง 8 ฤดูกาลที่ในกลุ่มน้องใหม่ เหลือเพียง 1 เดนตาย ที่รักษาชีวิตไว้ได้

ความหวังของ “นกขมิ้น” นอริช ซิตี, “ดาบคู่” เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, “สิงห์ผยอง” แอสตัน วิลลา บางทีจึงอาจอยู่ใน ตำราว่าด้วยการอยู่รอดที่บัญญัติโดย แซม อัลลาไดซ์ …“Allardyce Blueprint”

“แซม” หรือชื่อเต็ม แซมูเอล อัลลาไดซ์ เกิดเมื่อ ค.ศ. 1954 สมัยยังหนุ่มแน่นเคยฟาดแข้งแลกเงินในสังกัด โบลตัน วันเดอเรอร์ส (2 รอบ), ซันเดอร์แลนด์, มิลล์วอลล์, แทมปา เบย์ โรว์ดีส์, โคเวนทรี ซิตี, ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์, เปรสตัน นอร์ธ เอนด์ (2 รอบ), เวสต์ บรอมวิช อัลเบียน และ ลิเมริค ผ่านประสบการณ์ทั้งสิ้นเกิน 400 นัด โดยสังกัดสุดท้ายคือ เปรสตัน เมื่อปี 1992 จากนั้นก็ชิมลางควบตำแหน่ง ผู้เล่น-ผู้จัดการ ลิเมริค จากนั้นก็เริ่มต้นทำงานเต็มตัวให้ เปรสตัน ในปีเดียวกันนั่นคือ 1992

ชีวิตผู้จัดการของ แซม อัลลาไดซ์ โชกโชนไม่น้อยหน้าใคร เคยทำงานให้ทั้ง เปรสตัน, แบล็คพูล, น็อตต์ส เคาน์ตี, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส, เวสต์แฮม ยูไนเต็ด, ซันเดอร์แลนด์, คริสตัล พาเลซ, เอฟเวอร์ตัน (เคยบุญพาวาสนาส่งขึ้นเป็นกุนซือทีมชาติอังกฤษ ในปี 2016 แต่ได้คุมนัดเดียวคือฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก โซนยุโรป ชนะ สโลวะเกีย 1-0 เนื่องจากโดนผู้สื่อข่าวปลอมตัวเป็นนักธุรกิจตะวันออกกลาง เข้าพบ อัลลาร์ไดซ์ ขอคำแนะนำถึงวิธีหลีกเลี่ยงกฎของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ มีการเจรจาต่อรองเป็นเงินจำนวน 400,000 ปอนด์ ภายหลังเมื่อโป๊ะแตก อัลลาร์ไดซ์ จึงได้ลาออกจากการเป็นผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ รวมระยะเวลาที่นั่งเก้าอี้เพียง 67 วัน) แต่สโมสรที่ “บิ๊กแซม” คลุกคลีอยู่ด้วยนานสุดก็คือ โบลตัน วันเดอเรอร์ส นั่นเอง โดยร่วมหัวจมท้าย 8 ปี ตั้งแต่ปี 1999-2007

เส้นทางผู้จัดการของ “บิ๊กแซม” ดูไปก็แฝงความพิเศษพอสมควร ดังจะเห็นได้ว่าเขาเคยคุม 4 สโมสรที่ปูมหลังขัดแย้งกันอย่างเข้มข้น โดยแบ่งเป็น 2 คู่ก็คือ 1.นิวคาสเซิล-ซันเดอร์แลนด์ อริไม่ก้มหัวให้แห่งแถบ นอร์ธ-อีสต์ ไทน์แอนด์เวียร์ (ที่จริงย่านนี้ต้องรวม มิดเดิลสโบรช์ เข้าด้วยอีก 1) และ 2.แบล็คเบิร์น-โบลตัน ปรปักษ์ล้างผลาญแห่งแคว้น แลนคาเชียร์

“เดอะ ทร็อตเตอร์ส” โบลตัน วันเดอเรอร์ส ในอดีตนั้นนับว่ายิ่งใหญ่พอตัว ทว่าเมื่อลุถึงทศวรรษ 1990 บรรยากาศแบบนั้นไม่หลงเหลืออีกแล้ว ยังดีที่ในยุคของ แซม อัลลาไดซ์ รับบทผู้จัดการ เขาสามารถทำงานร่วมกับทุกฝ่ายอย่างกลมกลืน การบริหารที่มีประสิทธิภาพนอกสนาม ช่วยให้ผลงานในสนามแล่นฉิวเหลือเชื่อ

โบลตัน ช่วงเวลานั้นมีเสน่ห์พอจะดึงดูดให้ดาวดังหลายราย อาทิ ออกุสติน “เจย์ เจย์” โอโคชา, ยูริ จอร์เกฟฟ์, อีบัน คัมโป, เฟอร์นานโด เอียร์โร, ฮิเดโตชิ นากาตะ ทยอยเลือกมาแสวงหาความท้าทายช่วงบั้นปลาย (นี่ยังไม่ได้นับ นิโกลาส์ อเนลกา กองหน้าสาย Indy) เคียงข้างนักเตะ เกรด ไม่สูงกว่า A- อย่างเช่น เควิน โนแลน, เฮนริค พีเดอร์เซน, เควิน เดวีส์ และ ยุสซี ยาสเคไลเนน ซึ่งด้วยการผสมผสานระหว่างกลุ่มนักเตะดังกล่าว ทำให้สโมสรอย่าง โบลตัน อยู่รอดปลอดภัยบน พรีเมียร์ลีก ได้แบบไม่ต้องกดดันอะไรมากพวกเขาไม่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสน และสามารถยืดอกแถวกลางตารางอย่างมั่นคง

“Allardyce blueprint-พิมพ์เขียวของ อัลลาไดซ์” เริ่มมีการพูดถึงก็ในช่วงนั้นเอง

ไม่เสียประตู, ห้ามเสียการครอบครองบอลในฝั่งตนเอง, เน้นวางบอลไปข้างหน้าตั้งแต่จังหวะแรก, รู้จักพลิกสถานการณ์, ให้ความสำคัญกับลูกตั้งเตะ (ทั้งในยามตั้งรับและเป็นฝ่ายบุก), โจมตีจุดอ่อนฝ่ายตรงข้าม และคุณภาพในการจังหวะสุดท้ายของการบุก …นั่นคือเคล็ดลับที่ถูกบัญญัติไว้ใน “พิมพ์เขียวของ อัลลาไดซ์”
ทีนี้ลองดูสถิติของเหล่าสมาชิกใหม่ พรีเมียร์ลีก ฤดูกาลที่แล้ว ใครเป็นอย่างไรกันบ้าง

วูล์ฟแฮมป์ตัน มีจำนวนนัดไม่เสียประตูเป็นอันดับ 11 คาร์ดิฟฟ์ อันดับ 8 ฟูแลม อันดับ 19 ส่วนคุณสมบัติข้ออื่นที่น่าสนใจ ได้แก่ ผ่านบอลไปข้างหน้าตั้งแต่จังหวะแรก วูล์ฟส์ อันดับ 12 คาร์ดิฟฟ์ อันดับ 1 ฟูแลม อันดับ 14, ลูกตั้งเตะนำไปสู่การยิงประตู วูล์ฟส์, คาร์ดิฟฟ์ ทำได้ดีพอกันแถวกลางตาราง ส่วน ฟูแลม อยู่อันดับ 20, จังหวะการยิงประตูที่ชัดเจน วูล์ฟส์ อันดับ 8, คาร์ดิฟฟ์ อันดับ 9, ฟูแลม อันดับ 13 และประสิทธิภาพจ่ายบอลในแดนตนเอง วูล์ฟส์ อันดับ 14 คาร์ดิฟฟ์ อันดับ 7 ฟูแลม อันดับ 20

เห็นชัดเลยว่า วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ ที่ฤดูกาลก่อนจบอันดับสูงกว่าใคร แถมได้สิทธิ์ไปหวด ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ทั้งที่สถิติหลายอย่างเป็นรอง คาร์ดิฟฟ์ ซิตี, ฟูแลม …แล้วแบบนี้ “พิมพ์เขียวของ อัลลาไดซ์” ใช่ทางออกที่น่าเชื่อถือหรือไม่ ?

ในความเป็นจริงของโลกฟุตบอลลีก มีรายละเอียดมากมาย เพราะนี่คือการต่อสู้ที่ทรหดยาวนาน ระยะเวลา 7-8 เดือนของการฟาดแข้ง มีเรื่องราวไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้มากมาย ดังนั้นการเลือกแผนอย่างสุขุมจะช่วยลดความเสี่ยงตกชั้นได้พอสมควร

สิ่งแรกที่คุณในฐานะน้องใหม่ต้องเลือกให้แน่นอนตั้งแต่รู้ว่าได้เลื่อนชั้นก็คือ “แนวทาง” …คุณจะเน้นบุกหรือตั้งรับ จะก้าวร้าวหรือยืดหยุ่นละมุนละไม ซึ่งเชื่อว่าแค่เปิดฤดูกาลไปสัก 4-5 นัด คุณก็ตระหนักแก่ใจว่ามีแนวรุกที่ “คม” แค่ไหน เพราะหากบุกแล้วจบไม่สำเร็จ ก็มีสิทธิ์โดนสวนกลับพังพินาศเช่นกัน ถึงกระนั้นจากสถิติโดยเฉลี่ยแล้ว หากคุณโดนยิงไม่ถึง 50 ประตู บอกเลยว่าโอกาสรอดสูง แต่ในทางตรงข้าม หากโดนกระทุ้งเกิน 60 ประตู ประตูกลับบ้านเก่าจะอ้ากว้างต้อนรับดังนั้น เน้นเหนียวไว้ก่อนดีกว่า

พูดถึงเรื่อง “เหนียว” ขอเตือนไว้ก่อนว่าต่อให้คุณเป็นเศรษฐีใจกว้าง สามารถลงทุนมากมายในตลาดนักเตะ ทว่าก็ไม่อาจรับประกันการอยู่รอด แต่ข้อดีลงทุนไปนั้น อย่างน้อยยังสามารถเป็นเกราะกำบังไม่ให้โดนกองเชียร์ตะโกนด่า เพราะอย่างน้อยหากเอาตัวไม่รอด ก็ยังพออ้างได้ว่า ลงทุนเสริมทัพแล้วอย่างเต็มที่ และนี่คือ 5 อันดับสโมสรที่ลงทุนซื้อมหาศาล แต่ยังไม่วายตกชั้น
ฟูแลม (ฤดูกาล 2018-2019) 100.8 ล้านปอนด์, คาร์ดิฟฟ์ ซิตี (ฤดูกาล 2018-2019) 46.1 ล้านปอนด์, คาร์ดิฟฟ์ ซิตี (ฤดูกาล 2013-2014) 37.9 ล้านปอนด์, มิดเดิลสโบรช์ (ฤดูกาล 2016-2017) 30 ล้านปอนด์ และ นอริช ซิตี (ฤดูกาล 2015-2016) 23.5 ล้านปอนด์

ทีนี้หากยอมทุบคลังพังพินาศเพื่อกวาดนักเตะฝีเท้าดีมาร่วมทัพก็แล้ว พยายามเดินตาม “พิมพ์เขียวฉบับ อัลลาไดซ์” ก็แล้ว ทว่าสโมสรยังคงจมปลักดักดานอยู่ในเขตอันตราย เชื่อว่ามาตรการที่เกือบทุกสโมสรจะทำเป็นขั้นต่อไปก็คือ “ไล่ผู้จัดการ” เพราะมันต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และแน่ล่ะว่าไล่ผู้จัดการ ย่อมง่ายกว่าตะเพิดนักเตะรวดเดียวยกกะบิกว่า 20 คน อย่างน้อยจ่ายเงินชดเชยยกเลิกสัญญา 1 คน ย่อมประเสริฐกว่าต้องจ่ายให้ 20 คนแน่นอน

ไม่มีใครห้ามการตัดสินใจของใครได้ เพราะนั่นคือสโมสรของคุณนี่ท่านประธาน ที่ทำได้คือขอเตือนว่า เมื่อไล่เรียงสถิติในอดีตตั้งแต่ปี 1995 พบว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม สโมสรที่เลือกเชือดผู้จัดการระหว่างฤดูกาล ส่วนใหญ่แล้วสุดท้ายปลายทางก็ร่วงอยู่ดี ได้แก่ โบลตัน วันเดอเรอร์ส, คริสตัล พาเลซ, น็อตติงแฮม ฟอเรสต์, ซันเดอร์แลนด์, เบอร์มิงแฮม ซิตี, ดาร์บี เคาน์ตี, เบิร์นลีย์, เรดดิง, คาร์ดิฟฟ์ ซิตี, ควีนส์พาร์ค เรนเจอร์ส, ฮัลล์ ซิตี, มิดเดิลสโบรช์ และ ฟูแลม

สำหรับสโมสรส่วนน้อยที่เปลี่ยนผู้จัดการแล้วพลิกสถานการณ์สำเร็จ ได้แก่ เวสต์ บรอมวิช อัลเบียน (ฤดูกาล 2004-2005, 2010-2011), นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด (ฤดูกาล 2010-2011),ควีนส์พาร์ค เรนเจอร์ส (ฤดูกาล 2011-2012), เซาธ์แฮมป์ตัน (ฤดูกาล 2012-2013) และ คริสตัล พาเลซ (ฤดูกาล 2013-2014)

และถ้าได้ลองทำทุกประการแล้ว ไม่ว่าจะ Allardyce Blueprint ไม่ว่าจะโปรยเงินมหาศาลลงไปในตลาดนักเตะ หรือไล่ผู้จัดการคนเดิมออกแล้วหาคนใหม่มาเพิ่มความสด หากที่สุดแล้วมันไม่ Work ก็ต้องยอมรับสภาพอันบอบช้ำกันไป เพราะกีฬาที่มีผู้เล่น 22 คนอยู่ในสนามเดียวกัน มักเกิดเรื่องไม่คาดฝันบ่อยครั้ง ซึ่งไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ฝ่ายใดจะมีโชคได้รับประโยชน์จาก “จุดเปลี่ยน” อันไม่คาดฝันนั้น

แต่ก็ขอให้ภูมิใจเถอะว่า ถึงจะตกชั้นแต่สโมสรของพวกคุณยังได้รับส่วนแบ่งจากลิขสิทธิ์ พรีเมียร์ลีก มากมายหลายเท่าชนิดที่ แอตเลติโก มาดริด, บาเลนเซีย, เซบีญา หรือ บียาร์รีล ยังต้องอิจฉา
กัปตันโยฮัน

หมายเหตุ : ข้อมูล-ภาพประกอบจาก skysports.com, bwfc.co.uk, Wikipedia.org