“Paralympic” ความภูมิใจของนักกีฬาผู้พิการไทย (ตอน 2)

Photo of author

ตอนที่แล้วเราได้พูดถึงเรื่องราวและประวัติความเป็นมาของการแข่งขันกีฬาของผู้พิการ จากจุดเริ่มต้นของการแข่งขันกีฬา “สโตค แมนเดวิลล์ เกมส์” (Stoke Mandeville Games) กีฬาของทหารผ่านศึกที่บาดเจ็บกระดูกสันหลัง ในประเทศอังกฤษ

ก่อนที่จะพัฒนามาเป็น “อินเตอร์เนชั่นแนล สโตค แมนเดวิลล์ เกมส์” (International Stoke Mandeville Games) กีฬาของทหารผ่านศึกทั่วทั้งยุโรป จนได้รับการยอมรับจาก คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ “IOC” ให้จัดคู่ขนานกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เป็นครั้งแรกในปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

สำหรับในประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสมาคมกีฬาคนพิการ เป็นครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2526 หรือ ปี ค.ศ. 1983

โดยมีบุคคล 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญสม มาร์ติน, นายธีระ รมยาคม และ นายสันต์ชัย พูลสวัสดิ์ ก่อนที่จะจดทะเบียนกับสันติบาล กรมตำรวจ โดยใช้ชื่อว่า “สมาคมกีฬาคนพิการไทย”

หลังจากนั้น ศาสตราจารย์นายแพทย์บุญสม มาร์ติน ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนายกสมาคมฯ เป็นคนแรก โดยมี นายปรีดา รอดโพธิ์ทอง รองอธิการบดี กรมพลศึกษา (ในขณะนั้น) เป็นเลขาธิการ ซึ่งเป็นการจัดตั้งตามมติครม. เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2528 โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้คนพิการเล่นกีฬา เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ ทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และ สังคม ให้ดีขึ้น

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2531 การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้อนุญาตให้สมาคมกีฬาคนพิการ ใช้คำลงท้ายว่า “แห่งประเทศไทย” และมีชื่อเต็ม ๆ ที่ใช้ในปัจจุบันว่า “สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์”

หลังจากที่มีการจัดตั้งถูกต้องตามกฎหมายและได้ขึ้นทะเบียนกับการกีฬาแห่งประเทศไทย “สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์” ได้ส่งเสริมให้ผู้พิการไทย เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาผู้พิการในระดับนานาชาติมากมาย อาทิ กีฬาคนพิการแห่งชาติ, กีฬาอาเซียน พาราเกมส์, กีฬาเฟสปิกเกมส์, กีฬาคนพิการชิงแชมป์โลก รวมทั้งการแข่งขันกีฬาของผู้พิการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก “พาราลิมปิก”

จนถึงปัจจุบัน “สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์” ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยและผู้พิการไทย มาอย่างต่อเนื่อง และในปัจจุบันมี นายชูเกียรติ สิงห์สูง ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

นอกจากนี้ยังมีคีย์แมนคนสำคัญได้แก่ “บิ๊กนิดหน่อย” นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประมุขพาราไทย ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย โดย กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ท่านนี้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาวงการกีฬาผู้พิการไทยมาโดยตลอด

สำหรับประเภทกีฬาที่ทางสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ รับผิดชอบกีฬามีทั้งหมด 17 ชนิดกีฬา แต่ในความเป็นจริง “ทัพนักกีฬาผู้พิการไทย” มีนักกีฬาที่มีความสามารถและได้เข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ มากถึง 20 ชนิดกีฬา ได้แก่

กรีฑา (ลู่ – ลาน), โกล์บอล, เซปักตะกร้อ, เทเบิลเทนนิส, บอคเซีย, แบดมินตัน, เปตอง, ฟุตบอล 7 คน, โบว์ลิ่ง, ยกน้ำหนัก, ยิงปืน, ยิงธนู, วอลเลย์บอล (นั่ง-ยืน), ว่ายน้ำ, วีลแชร์เทนนิส, วีลแชร์บาสเก็ตบอล, วีลแชร์ฟันดาบ, หมากรุกสากล, ไตรกีฬา, ยกน้ำหนัก และ ยูโด

โดยเฉพาะ กีฬาบอคเซีย, วีลแชร์เรซซิง, เทเบิลเทนนิส และ วีลแชร์ฟันดาบ ประเทศไทยมีนักกีฬาคนพิการที่ครองอันดับที่ 1 ของโลก มาโดยตลอด

ไล่ไปตั้งแต่ปี 2542 ในการแข่งขันกีฬาเฟสปิก เกมส์ หรือ “การแข่งขันกีฬาคนพิการภาคพื้นตะวันออกไกล และแปซิฟิกตอนใต้” ที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ

ซึ่งทัพนักกีฬาผู้พิการไทยได้ค้นพบตำนานของวงการวีลแชร์เรซซิง อย่าง ประวัติ วะโฮรัมย์ ที่คว้าเหรียญทองในรุ่น 800 เมตร และเหรียญทองแดงในรุ่น 10,000 เมตร ขณะที่มีอายุแค่เพียง 18 ปี และยังเป็นนักกีฬาวีลแชร์เรซซิง ที่สร้างสถิติต่าง ๆ มากมาย

ก่อนที่ รุ่งโรจน์ ไทยนิยม จะสร้างชื่อในการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก เกมส์ ที่ประเทศอังกฤษ ในปี 2012 ด้วยการคว้าเหรียญทองจากกีฬาเทเบิลเทนนิส ในประเภทชายเดี่ยว คลาส 6

หลังจากนั้นทัพนักกีฬาผู้พิการไทย ได้สร้างชื่อเสียงจากกีฬาบอคเซีย ในการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก เกมส์ 2016 ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล หลังคว้า 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง ประกาศศักดาพร้อมก้าวขึ้นมาเป็นหมายเลข 1 ของโลกอย่างสมภาคภูมิ

หลังจากนั้นเป็นต้นมา “ทัพนักกีฬาผู้พิการไทย” ได้นำพาประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาของผู้พิการอย่างต่อเนื่อง

“Paralympic” ความภูมิใจของนักกีฬาผู้พิการไทย (ตอน 3) จะมาลงลึกถึงรายละเอียดทั้ง กฏ-กติกา และประวัติความเป็นมาของกีฬาที่สร้างชื่อให้กับ “ทัพนักกีฬาผู้พิการไทย”

Loafer

หมายเหตุ : ข้อมูลอ้างอิงจาก 

http://www.paralympicthai.com

https://www.paralympic.org