“Paralympic” ความภูมิใจของนักกีฬาผู้พิการไทย (ตอน 1)

Photo of author

แน่นอนแล้วว่าการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับนักกีฬาผู้พิการไทย ทั้ง 3 ทัวร์นาเมนต์ อย่าง พาราลิมปิก, ไอวาส เวิล์ดเกมส์ และ อาเซียน พาราเกมส์ จะต้องถูกยกเลิกไปเพราะไวรัส “COVID-19”

ทำให้ในตอนนี้ทัพนักกีฬาผู้พิการไทย ทั้งหมดต้องเก็บตัวฝึกซ้อมที่บ้านตามมาตรการ “Social distancing” หรือ การเว้นระยะทางกายภาพกับบุคคลอื่น ๆ ในสังคม เพื่อทำให้เกิดการแพร่เชื้อของโรคให้น้อยที่สุด

แปลง่าย ๆ ก็คือการอยู่ห่างจากคนอื่น ๆ ในสังคม เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ระบาด

เมื่อเกิดโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดในโลก ในรอบ 100 ปี ทำให้มหกรรมกีฬาทุกชนิดถูกเลื่อนออกไป คณะทำงานของพาราลิมปิกไทย ภายใต้การบริหารงานของประมุขพาราไทย “บิ๊กนิดหน่อย” คุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จำเป็นต้องงัดแผน 2 มาใช้ โดยเฉพาะการเก็บตัวฝึกซ้อม รวมทั้งการเจรจากับการกีฬาแห่งประเทศไทย ในเรื่องของการขยายเวลาสนับสนุนงบประมาณในการฝึกซ้อมของนักกีฬา

เมื่อถึงตอนนี้แล้วมั่นใจได้เลยว่า นักกีฬาผู้พิการไทย ไม่มีปัญหาในการฝึกซ้อมและงบประมาณในการดำรงชีพในสภาวะ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” ในตอนนี้

สำหรับที่มาและจุดเริ่มต้นของ คําว่า “พาราลิมปิก” (Paralympic) บางทฤษฎีอ้างอิงถึงความเกี่ยวข้องกับคำว่า พาราไลซิส (Paralysis) หรือ พาราพลีเจีย (Paraplegia) ที่หมายถึงภาวะอัมพาตหรือความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว

อีกหนึ่งทฤษฎีได้อ้างอิงถึงคำว่า “para” ในภาษากรีก ที่แปลว่า “คู่กัน” ซึ่งเป็นการสื่อความหมายว่าการแข่งขัน “พาราลิมปิก” จะต้องคู่กับ “โอลิมปิก” ตลอดไป และเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จะต้องจัดการแข่งขันกีฬาทั้ง 2 ทัวร์นาเมนต์ คู่กันไปตอดกาลนั่นเอง

เมื่อมีทฤษฎีอ้างถึงความเกี่ยวข้องกับ “คำ” และ “ตัวอักษร” ทำให้ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ “IOC” และ คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล หรือ “IPC” ได้ตกลงร่วมกันที่จะจัดการแข่งขันโอลิมปิก และ พาราลิมปิก เป็นครั้งแรกในปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

ซึ่งเป็นการแข่งขันในเมืองเดียวกัน และ สถานที่เดียวกัน ในการจัดการแข่งขัน เพื่อความเสมอภาคของนักกีฬาปรกติและนักกีฬาผู้พิการ และการแข่งขัน “พาราลิมปิก” จะจัดขึ้นหลังจบการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2 สัปดาห์

เมื่อมีข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดการแข่งขัน สถานที่ เจ้าภาพ และ ระยะเวลาแล้ว สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือ สัญลักษณ์ (Logo) ที่ใช้ในการแข่งขัน และ เหรียญรางวัล (Medal)

สัญลักษณ์ของการแข่งพาราลิมปิก ถูกระบุให้มีรูปแบบเป็น “พระจันทร์เสี้ยว 3 ชิ้น” และพระจันทร์เสี้ยว เรียกว่า “Agito” ในภาษาละตินที่แปลว่า “การเคลื่อนไหว” หรือ “I Move” แบ่งเป็น สีแดง, สีน้ำเงิน และ สีเขียว ซึ่งเป็นสีสามัญของธงชาติแทบจะทุกประเทศในโลกนี้

ส่วนคำขวัญประจำการแข่งขันของพาราลิมปิก จึงเป็นคำว่า “Spirit in Motion” หรือ “จิตวิญญาณในการเคลื่อนไหว” ซึ่งเป็นการสื่อความหมายว่า “ถึงแม้ร่างกายจะเคลื่อนไหวได้ไม่ปรกติแต่จิตวิญญาณยังเคลื่อนไหวได้สมบูรณ์” นั่นเอง

เหรียญรางวัลในการแข่งขันพาราลิมปิก จะมีรูปแบบแตกต่างกันไปในการแข่งขันแต่ละครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่จะมีรูปแบบที่เหมือนกันคือจะมีสัญลักษณ์พระจันทร์เสี้ยวอยู่บนเหรียญ ที่เป็นสัญลักษณ์ของกีฬาพาราลิมปิก

จุดเริ่มต้นของการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก เกิดขึ้นจากการแข่งขัน “กีฬาสโตค แมนเดวิลล์ เกมส์” (Stoke Mandeville Games) ซึ่งเป็นความคิดของ เซอร์ ลุดวิก กุตต์มานน์ (Sir Ludwig Guttmann) นักประสาทวิทยาชาวเยอรมันที่หนีภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และอพยพครอบครัวมาอยู่ที่ ประเทศอังกฤษ ในปี 1939

ก่อนที่จะมีแนวคิดในการจัดการแข่งขันกีฬาสำหรับทหารที่บาดเจ็บกระดูกสันหลัง หลังจากที่ได้ก่อตั้งศูนย์ผู้บาดเจ็บกระดูกสันหลังแห่งชาติ ณ โรงพยาบาลสโตค แมนเดวิลล์ (Stoke Mandeville Hospital) ที่บักกิงแฮมเชียร์ ประเทศอังกฤษ ในปี 1948 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

 

ในการแข่งขันสโตค แมนเดวิลล์ เกมส์ (Stoke Mandeville Games) ครั้งแรก ได้จัดแข่งขันกีฬาสำหรับทหารผ่านศึกที่นั่งรถวีลแชร์ และมีทหารผ่านศึกที่บาดเจ็บจากสงคราม ทั้งชายและหญิงร่วมการแข่งขันทั้งหมด 16 คน แบ่งเป็นชาย 14 คน หญิง 2 คน และมีการแข่งขันกีฬา “ยิงธนูประเภทเดี่ยว” เป็นกีฬาชนิดเดียวที่ใช้แข่งขัน

หลังจากนั้นจึงมีการพัฒนาต่อยอดการแข่งขันทุก ๆ ปี ด้วยการเพิ่มชนิดกีฬาให้หลากหลายเพื่อรองรับผู้ร่วมการแข่งขันที่มาก ก่อนจะพัฒนาเป็น “อินเตอร์เนชั่นแนล สโตค แมนเดวิลล์ เกมส์” (International Stoke Mandeville Games) เพราะมีนักกีฬาชาวเนเธอร์แลนด์ ที่เป็นทหารผ่านศึกเข้าร่วมการแข่งขันในปี 1952

จนกระทั่งปี 1960 สโตค แมนเดวิลล์ เกมส์ ได้จัดการแข่งขันที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี และจัดคู่ขนานกับโอลิมปิกเกมส์ โดยมีนักกีฬา 400 คนจาก 23 ประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน และการแข่งขันครั้งนี้ คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล ได้ถือให้การแข่งขันพาราลิมปิก ครั้งแรกอย่างเป็นทางการ

Paralympic ความภูมิใจของนักกีฬาผู้พิการไทย (ตอน 2) จะเป็นเรื่องราวของชนิดกีฬาที่ “ทัพนักกีฬาผู้พิการไทย” สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ในการแข่งขันในระดับนานาชาติ

Loafer