มารู้จักกติกาใหม่ ที่ใช้สำหรับการแข่งขัน “premier league return” จนจบฤดูกาลนี้

Photo of author

ในตอนนี้การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก กลับมาแข่งขันกันอีกครั้ง หลังจากที่เผชิญกับสภาวะวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา “COVID-19” หลังจากที่หยุดแข่งขันไปนานกว่า 3 เดือน

จุดประสงค์หลักที่ทำให้พรีเมียร์ลีก ต้องกลับมาแข่งขันต่อทั้ง ๆ ที่รัฐบาลอังกฤษ และ พรีเมียร์ลีก สามารถตัดสินใจที่ยุติการแข่งขันหรือตัดจบได้ แต่ประเด็นสำคัญมันคือเม็ดเงินมหาศาลจากสปอนเซอร์ หรือผลตอบแทนที่พรีเมียร์ลีก ได้รับมูลค่า 1,137 พันล้านปอนด์ หรือกว่า 42.7 หมื่นล้านบาท มันมากจนไม่มีใครรับผิดชอบไหว

เพราะทางพรีเมียร์ลีก จะต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้กับผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และ สปอนเซอร์ อื่น ๆ หากว่าพวกเขาไม่สามารถแข่งขันฟุตบอลที่เหลืออีก 38 นัด ได้ตามโปรแกรม

นอกจากนี้ยังมีประเด็นโควตาสำหรับฟุตบอลยุโรป ทั้ง “ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก” และ “ฟุตบอลยูโรป้า ลีก” และยังไม่รวมถึงโซนตกชั้น

เมื่อจำเป็นที่จะต้องแข่งขันฤดูกาลนี้ให้จบลง และไม่ต้องการให้เกิดข้อครหาว่า “รัฐบาลอังกฤษ” และ “พรีเมียร์ลีก” ไม่สนใจกับการแพร่ระบาดของไวรัส “COVID-19” พรีเมียร์ลีก ได้ประชุมปรึกษาหารือกับคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ ก่อนที่จะมีมติเห็นพ้องต้องกันว่า ถ้าหากจะต้องแข่งขันจนจบฤดูกาล สิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับการแข่งขันคือการ “ร่างกติกา” ขึ้นมาใหม่เพื่อใช้เป็นเฉพาะการแข่งขันจนจบฤดูกาลเท่านั้น

สำหรับกติกา “เฉพาะกิจ” ที่ใช้สำหรับฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ที่จะกลับมาแข่งขันใหม่ประกอบไปด้วย “กติกา” เฉพาะกิจ ดังนี้

1.พรีเมียร์ลีกอนุญาตให้บริษัทผู้ดำเนินการถ่ายทอดสด ใช้เสียงประกอบการแข่งขันทางทีวี เพื่อทำให้บรรยากาศในสนามดีขึ้น แต่ห้ามเปิดเสียงประกอบออกจากลำโพงในสนามโดยตรง

2.ในการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ครั้งนี้ทุกทีมสามารถเดินทางด้วยพาหนะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์, รถบัส, รถไฟ หรือ เครื่องบิน ทุกอย่างสามารถทำได้หมด แต่ต้องถูกควบคุมด้วยมาตรการเว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด

3.ทุก ๆ เกมที่แข่งขันผู้เล่นทั้ง 2 ทีม จะต้องติดป้าย Badge ที่เสื้อแข่งขัน และที่แขนเสื้อจะต้องติดคำว่า “Black Lives Matter” ซึ่งเป็นข้อความต่อต้ายการเหยียดผิว และคำว่า “NHS” ที่ย่อมาจาก “National Health Service” ที่เป็นคำย่อของระบบสาธารณสุขประเทศอังกฤษ ทั้ง แพทย์, พยาบาล, เภสัชกร และ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาททั้งหมด

4.ทุกสนามจะถูกกำหนดพื้นที่ “Red Zone” ประกอบไปด้วย “พื้นหญ้าที่ใช้แข่งขัน”, “ซุ้มม้านั่งสำรอง”, “ห้องแต่งตัว” และ “อุโมงค์ทางเข้าสนาม” และมีการห้ามผู้คนรวมตัวกันได้สูงสุด 110 คน

5.พื้นที่บริเวณด้านในสนามแข่งขันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอัฒจันทร์ผู้ชม, โซนนักข่าว, โซนช่างภาพ, จุดถ่ายทอดสดเกมการแข่งขัน และ บริเวณพื้นที่สตาฟฟ์ที่จัดเตรียมมา จะต้องมีผู้คนไม่เกิน 300 คน

6.สตาฟฟ์ของแต่ละทีม จะต้องเตรียมเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา และจะต้องเป็นเครื่องดื่มเฉพาะของแต่ละคนเท่านั้น

7.ทุก ๆ สนามแข่งขันไม่อนุญาตให้มีเด็กเก็บบอล ทีมเจ้าบ้านจะต้องเตรียมลูกฟุตบอลไว้รอบ ๆ สนาม และนักฟุตบอลจะต้องเดินไปเอาลูกฟุตบอลมาเล่นด้วยตนเองเท่านั้น

8.เมื่อผู้เล่นทีมเยือนเดินมาถึงสนามแข่งขัน จะต้องถูกจำกัดในพื้นที่ที่เรียกว่า “Sterile Route” ซึ่งเป็นบริเวณที่ทำความสะอาดและปลอดเชื้อ ห้ามคนเข้าออก 100% และจะไม่อนุญาตให้นักฟุตบอลนั่งรวมกันเหมือนปรกติ และจะต้องถูกควบคุมการเดินทางหรือกิจกรรมทุกชนิด

9.ห้ามนักฟุตบอลทุกคนถ่มน้ำลาย, สั่งน้ำมูก และ ห้ามปล่อยสารคัดหลั่งจากร่างกายลงบนพื้นสนาม

10.ห้ามนักฟุตบอลทั้ง 2 ฝ่าย ห้ามจับมือกันทุกกรณี เริ่มตั้งแต่การตั้งแถวก่อนเริ่มเกม, ระหว่างเกม, ในกรณีที่คู่แข่งล้มลง ก็ไม่สามารถที่จะดึงคู่แข่งขึ้นมาได้ และเป็นการห้ามทุกกรณี

11.บริเวณด้านหลังประตูทั้งสองฝั่ง สามารถจัดกิจกรรมดูบอลถ่ายทอดสดผ่านทางระบบ LIVE ได้ และสามารถดึงหน้าแฟนบอลที่อยู่บ้านตัวเองมาขึ้นจอในสนามได้ ซึ่งแตะละจอจะถูกกำหนดให้แบ่งแฟนบอล 16 คน ต่อ 1 จอ

12.ขั้นตอนการเดินทางจากห้องพักนักกีฬาไปจนถึงสนาม ห้ามเดินออกมาจากอุโมงค์ในช่วงเวลาเดียวกัน ต้องมาคนละช่วงเวลา หรือมาจากทางเข้าอื่น ๆ ห้ามเดินทางมาพร้อมกัน

13.ก่อนลงสนามทุกเกม ผู้เล่นทุกคนจะต้องไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากไวรัส “COVID-19” ด้วยการยืนสงบนิ่ง 1 นาที แต่ยังมีการพูดคุยกันว่าการยืนไว้อาลัยจะต้องทำทุกเกมจนจบฤดูการหรือไม่

14.ขั้นตอนการวอร์มอัพก่อนแข่งขัน นักฟุตบอลสามารถสัมผัสตัวกันได้ แต่ต้องระมัดระวัง และเมื่อการแข่งขันเสร็จสิ้นลง ทั้ง 2 ทีมจะต้องออกจากสนามแข่งขันในทันที แต่ในกรณีที่จะต้องวอร์มหลังการแข่งขันจะใช้เวลามากที่สุดแค่ 15 นาที เท่านั้น

15.การเปลี่ยนตัวเพิ่มจาก 3 เป็น 5 คน และอนุญาตให้ใส่ชื่อนักฟุตบอลสำรองได้ทั้งหมด 7 คน แต่ในการแข่งขันพรีเมียร์ลีก ที่กลับมาแข่งขันใหม่สามารถใส่ชื่อได้ทั้งหมด 9 คน และสามารถเปลี่ยนนักเตะลงสนามได้ทั้งหมด 5 คน จากปรกติ 3 คน เพื่อต้องการเซฟสภาพร่างกายของนักฟุตบอล เพราะทางพรีเมียร์ลีกเชื่อว่านักเตะเหล่านี้ยังมีสภาพร่างกายที่ไม่ฟิตสำหรับการแข่งขันนั่นเอง

ส่วนการเปลี่ยนตัวนักฟุตบอลสำรอง จากเดิมที่เปลี่ยนตัวได้ 3 คน ต่อ 1 เกม จะมีการเปลี่ยนแปลงให้เปลี่ยนผู้เล่นลงสนามได้ 5 คน ต่อ 1 เกม ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า การเปลี่ยนนักเตะ 5 คน จะต้องเสร็จสิ้นภายในการเปลี่ยนตัวผู้เล่นแค่ 3 ครั้ง โดยไม่นับช่วงพักครึ่ง หมายความว่าแต่ละทีมจะเปลี่ยนนักเตะกี่คนกี่ได้ ต่อการเปลี่ยนตัว 1 ครั้ง แต่ต้องครบ 5 คน ใน 3 ครั้งเท่านั้นเอง

16.ในจังหวะที่บอลตายในช่วงกึ่งกลางของแต่ละ 45 นาที ผู้ตัดสินจะสั่งให้หยุดพักให้น้ำหรือ “Cooling Break” เพื่อต้องการให้นักฟุตบอลรักษาสภาพร่างกายให้สมบูรณ์ที่สุด เพราะการลงสนามตลอด 45 นาที ในสภาพที่นักกีฬาฟิตไม่สมบูรณ์เพียงพอ อาจทำให้นักเตะเกิดอาการอ่อนล้า ดังนั้นช่วงเวลา 3-5 นาที จะทำให้นักกีฬาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เล็กน้อย

Arsenal’s Granit Xhaka is stretchered off during the Premier League match at the Etihad Stadium, Manchester.

17.ในกรณีที่มีนักเตะได้รับบาดเจ็บ จนถึงระดับเลือดออก หรือเกิดอาการถลอกจนเห็นเนื้อเยื่อ ทีมแพทย์จะต้องใส่ชุด PPE เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากการเข้าไปปฐมพยาบาลเบื้องต้น

18.ห้ามนักฟุตบอลรุมล้อมกรรมการ เพราะอาจส่งผลต่อการแพร่กระจายของไวรัส เช่นเดียวกับในกรณีที่นักกีฬาไม่พอใจหรือเกิดการกระทบกระทั่ง ห้ามประจันหน้ากันแบบประชิด เช่น การเอาหน้าผากชนกัน หรือ ใช้หน้าอกดันกัน

ทั้งหมดนี้คือกฎที่กำหนดไว้สำหรับการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ที่กลับมาแข่งขันกันใหม่ และทุกทีมจะต้องปฏิบัติตาม แต่กฎดังกล่าวไม่มีการระบุโทษไว้อย่างชัดเจนสำหรับนักเตะที่ฝ่าฝืน ที่สำคัญกติกาที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นแค่เพียงแค่กติกาชั่วคราวเท่านั้น และเมื่อเริ่มฤดูกาลแข่งขันใหม่ก็จะกลับมาใช้กติกาเก่าดังเดิม

Loafer