“ไอโอซี” เลือก คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์หญิงชาวไทย ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการ วัฒนธรรม และมรดกโอลิมปิก (CULTURE AND OLYMPIC HERITAGE) และร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการ กองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (OLYMPIC SOLIDALITY) บริหารงบกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกฯ เพื่อพัฒนา นักกีฬาสู่โอลิมปิก ของ 206 ประเทศ จำนวนหลายหมื่นล้านบาท
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล เป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ในการประชุม ไอโอซี ครั้งที่ 131 ที่กรุงลิม่า ประเทศเปรู ในปี 2017 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก และประธานคณะกรรมการด้านวัฒนธรรมของสภาโอลิมปิกแห่งเอเซีย (โอซีเอ)
ล่าสุด ไอโอซี โดย โธมัส บาค ประธานไอโอซี และคณะกรรมการบริหารได้มีการแต่งตั้งประธานและคณะกรรมาธิการในชุดต่าง ๆ ออกมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่ง คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์หญิงชาวไทย ได้รับความไว้วางใจ ให้ทำหน้าที่เป็น ประธานคณะกรรมาธิการ วัฒนธรรม และมรดกโอลิมปิก (CULTURE AND OLYMPIC HERITAGE) ช่วยขับเคลื่อนโอลิมปิก ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของวัฒนธรรมของชาติสมาชิก เพื่อส่งเสริมหลักปรัชญาโอลิมปิกออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั่วโลก และยังได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการ กองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (OLYMPIC SOLIDALITY) ที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการใช้เงินของ กองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ที่มีงบประมาณหลายหมื่นล้านบาทในการพัฒนานักกีฬา สู่โอลิมปิกทุก 4 ปี
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์ กล่าวว่า พร้อมช่วยงานไอโอซี ทั้ง 2 คณะกรรมาธิการอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกระบวนการโอลิมปิก ให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของคณะกรรมาธิการ วัฒนธรรม และมรดกโอลิมปิก นั้น ถือว่า เป็นการทำงานที่สอดคล้องกับตนเองที่นอกจากเรื่องกีฬาแล้ว ก็ยังทำงานด้านวัฒนธรรมภายในประเทศมาอยู่ตลอด ซึ่งถือว่าข้อมูลที่มีอยู่รอบด้าน จะได้นำไปสนับสนุนการดูแลวัฒนธรรม และมรดกทั่วโลกของโอลิมปิกต่อไป
ความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการด้านวัฒนธรรมและมรดกโอลิมปิก จะช่วยในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติด้านวัฒนธรรมของไอโอซี ช่วยให้เกิดการผสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน องค์กรที่ดูแลในเรื่องวัฒนธรรมภายในกระบวนการขับเคลื่อนโอลิมปิก อาทิ สถานเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย เพื่อให้งานด้านวัฒนธรรมส่งผลวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น และพิจารณาแนวทางต่าง ๆ เพื่อพัฒนากิจกรรมด้านวัฒนธรรมของกระบวนการขับเคลื่อนโอลิมปิกในอนาคต
ไอโอซีเมมเบอร์หญิงชาวไทย กล่าวต่อว่า ขณะที่การทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการ กองทุนสงเคราะห์ โอลิมปิกระหว่างประเทศ นั้น ถือว่าเป็นกรรมาธิการที่มีความสำคัญมาก จะดูงานด้านกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ เป็นหลัก ซึ่งจุดประสงค์ในการตั้งกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ก็เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คณะกรรมการโอลิมปิก แห่งชาติ 206 ประเทศทั่วโลก และส่งเสริมคุณค่าโอลิมปิก ซึ่งส่วนตัวพร้อมให้การสนับสนุนทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งระบบ
คณะกรรมาธิการกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ จะรับผิดชอบดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้กองทุนสงเคราะห์ฯ อาทิ อนุมัติกิจกรรมต่าง ๆ และงบประมาณที่เกี่ยวข้อง รวมถึงติดตามการดำเนินกิจกรรมนั้น ๆ คณะกรรมาธิการชุดนี้ ต้องกำกับดูแลในด้านการเงินของกองทุน เทคนิค และการบริหารงาน อย่างใกล้ชิด โดยต้องรายงานให้บอร์ดบริหาร และประธานไอโอซี รับทราบ เป็นข้อมูลอยู่เสมอ
อีกทั้ง คณะกรรมาธิการกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ยังจะบริหารจัดการกิจกรรมต่าง ๆของกองทุนสงเคราะห์ฯ เพื่อช่วยสนับสนุนส่งเสริมหลักการพื้นฐานของโอลิมเปียน ช่วยเหลือคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติประเทศต่าง ๆ ในการเตรียมนักกีฬา เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ พัฒนาความรู้และเทคนิคให้แก่ผู้ฝึกสอนและนักกีฬา ยกระดับความสามารถทางเทคนิคของนักกีฬาและผู้ฝึกสอน โดยร่วมมือกับคณะกรรมการโอลิมปิกแต่ละชาติ และสหพันธ์กีฬานานาชาติ
รวมถึงการให้ทุนการศึกษา จัดอบรมผู้บริหารด้านกีฬา ร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานอื่น ๆ ที่ต่างมีวัตถุประสงค์เดียวกัน โดยเฉพาะผ่านการให้ความรู้เรื่องโอลิมปิก และการเผยแพร่กีฬา สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬาที่เรียบง่าย ประหยัด แต่ใช้สอยได้ดี โดยร่วมมือกับคณะกรรมการโอลิมปิก และองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ สนับสนุนการจัดการแข่งขันในระดับชาติ ภูมิภาค และทวีปที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติประเทศต่าง ๆ และให้ความช่วยเหลือแก่คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติแต่ละประเทศในการจัดการแข่งขัน เตรียมความพร้อมและเข้าร่วมการแข่งขันของคณะตัวแทนจากชาติต่าง ๆ ในมหกรรมกีฬาในระดับภูมิภาคและทวีป
“นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมให้เกิดโปรแกรมความร่วมมือทั้งระดับทวิและพหุภาคีร ะหว่างกลุ่มของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติประเทศต่าง ๆ กระตุ้นให้รัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ให้รวมเรื่องกีฬาไว้ในความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา และให้การสนับสนุนแก่นักกีฬาที่มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย” คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กล่าวในตอนท้าย
สำหรับคณะกรรมาธิการ วัฒนธรรม และมรดกโอลิมปิก มีคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล เป็นประธาน ส่วนคณะกรรมาธิการ ประกอบด้วย นิตา อัมบานี, วาเลรี บอร์ซอฟ,เจ้าหญิงนอรา แห่งลิกเตนสไตน์, ไอชา เกราด อาลี, คริสตอฟ ไอต์บราฮัม, ฟรานโก อัสกานี, เมห์เรซ บูสซาเยเน, โรอัลด์ แบรดสตอก, มาเรีย บูลาโตวา, อเล็กซานดรา เด นาวาเซลล์ โซลิดิส, ดีโอไนซีส กานกาส, เบียทริซ การ์เซีย, บูชารา ฮาจิจ, โยชิโก ฮามาซากิ, จัสติน ฮู, แอดไมร์ มาเซนดา, อลิเซีย มาโซนี เด โมเรีย, เอริก มิตเชลล์, นอร์แบร์ต มุลเลอร์, เคลาส์ สคอร์แมน, ซิลเวีย สวีตนีย์, เดวิด วัลเลชชินสกี, บาร์บาร่า วิลเลียมส์
ส่วน คณะกรรมาธิการ กองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ มี โรบิน อี มิตเชลล์ เป็นประธาน ส่วนคณะกรรมาธิการ นอกจาก คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล แล้ว ยังมี มุสตาฟา เบอร์ราฟ, สไปรอส คาปราลอส, มาริซอล คาซาโด, คริสตี้ โคเวนทรี,แกรนด์ดยุก อองรี แห่งลักเซมเบิร์ก, ซารี เอสซายาห์, โทนี่ เอสตันเกต์, นิโคล โฮเวิร์ตซ์, เนเวน อิลิช, เนนาด ลาโลวิช, หลิง เหว่ย หลี, กุนิลลา ลินเบิร์ก, อาเหม็ด อาบู เอลกา ซิม ฮาซิม, ฮุสเซน อัล มุสซาลาม, ริคาร์โด บลาส, เตย์เยบ อิคราม, จาเนซ โคซิยานซิส, ราฟาเอลเล่ ปานอซซี่ และ อิวาร์ ซิสนิเอกา