วันที่ 28 เมษายน 2563 ณ ที่ทำการสมาคมฯ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดการประชุม “คณะพัฒนาฟุตบอลเยาวชน” เพื่อวางแผนแนวทางการพัฒนาฟุตบอลเยาวชนทั้งระบบ ในประเทศไทยขึ้น
การประชุมในครั้งนี้นำโดย อรรณพ สิงห์โตทอง ประธานที่ปรึกษาคณะพัฒนาฟุตบอลเยาวชน, พาทิศ ศุภะพงษ์ รักษาการเลขาธิการสมาคมฯ, การ์เลส โรมาโกซา ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค, อากิระ นิชิโนะ หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยชุดใหญ่, เบนจามิน ตัน ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการคลับ ไลเซนซิ่ง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค และฝ่ายจัดการแข่งขันสมาคมฯ
ภายหลังการประชุม อรรณพ สิงห์โตทอง ประธานที่ปรึกษาคณะพัฒนาฟุตบอลเยาวชน เปิดเผยว่า “วัตถุประสงค์หลักในการประชุมครั้งนี้ คือการวางแนวทาง เพื่อกำกับดูแลนักกีฬาฟุตบอล ตั้งแต่ระดับเยาวชนขึ้นไป”
“สิ่งสำคัญ คือ โปรแกรมการแข่งขันฟุตบอลลีกเยาวชนภายในประเทศ หรือ ยูธลีก รวมถึงกิจกรรมฟุตบอล Grassroots ต่างๆ ว่า เรามีแผนการจัดโปรแกรมการแข่งขันที่เป็นระบบ โดยจะไม่ทับซ้อนกับโปรแกรมการแข่งขันของเยาวชนทีมชาติไทย มีการหยุดพักในช่วงสอบกลางภาค และปลายภาคสำหรับนักเรียน”
“ไม่มีจำนวนแมตช์มากเกินไป สำหรับสภาพร่างกายในแต่ละรุ่นอายุ เพื่อให้เด็กๆ มีการพัฒนาอย่างเต็มประสิทธิภาพ ในระดับฟุตบอลลีก และต่อเนื่องไปถึงระดับชาติได้ ที่สำคัญคือการเปิดโอกาสกับเด็กๆ ซึ่งจะต้องกระจายไปสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ”
ด้าน พาทิศ ศุภะพงษ์ รักษาการเลขาธิการสมาคมฯ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานว่า “เราจำเป็นที่จะต้องจัดเก็บข้อมูลของนักเตะเยาวชนที่อยู่ในประเทศไทย ผ่านการลงทะเบียนจากสถาบันฝึกหัดฟุตบอล อคาเดมีฟุตบอล ทั้งทั่วไปและที่สังกัดอยู่กับสโมสร ศูนย์ฝึกฟุตบอล และโรงเรียนต่างๆ ของประเทศไทย เข้ามาไว้ในระบบให้มากที่สุด เพื่อเป็นฐานข้อมูลนักฟุตบอลที่เป็นทางการ”
“โดยสามารถติดตาม และเก็บสถิติต่างๆ ตั้งแต่เริ่มเส้นทางชีวิตนักฟุตบอลในระดับเยาวชน, จำนวนแมตช์ที่เล่น, รายการที่เข้าร่วม, สถิติการแข่งขัน จนเข้าสู่สังกัดสโมสร เล่นฟุตบอลอาชีพ จนเปลี่ยนสถานะไปเป็นผู้ฝึกสอน หรือบุคลากรในวงการฟุตบอล”
“จากข้อมูลเหล่านี้ สมาคมฯ และผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยทุกชุด ก็จะสามารถทราบได้ว่า มีนักฟุตบอลในแต่ละรุ่นอายุ ทั้งประเทศจำนวนเท่าไหร่ เพื่อจะได้ใช้ข้อมูล และสถิติต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ในการติดตามผู้เล่น และพัฒนาฟุตบอลเยาวชนต่อไป”
“ซึ่งแน่นอนว่า เราจะพิจารณาให้มาก ถึงสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ สำหรับอคาเดมี หรือศูนย์ฝึกฟุตบอล รวมถึงโรงเรียนต่างๆ ที่ลงทะเบียนกับสมาคมฯ เช่น นักฟุตบอลจะได้หมายเลขประจำตัวนักกีฬาจากฟีฟ่า ตั้งแต่วันแรกที่ลงทะเบียน และจะมีการเก็บสถิติโปรไฟล์ไปตลอดชีวิตที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล รวมถึงสิทธิ์ในการเข้าร่วมอบรมในคอร์สต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์, สิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขันรายการต่างๆ ของเยาวชน, สิทธิ์ในการใช้แพลตฟอร์มระบบบริหารจัดการแข่งขัน ที่อคาเดมีหรือโรงเรียนใช้จัดการแข่งขันภายใน ฯลฯ” รักษาการเลขาธิการสมาคมฯ กล่าว