คณะกรรมมาธิการ จัดประชุมร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย และ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เกี่ยวกับการปรับปรุงสนามแข่งขัน เพื่อเตรียมการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2020 รอบสุดท้าย ในเดือนมกราคม 2563
หลังการประชุม คุณ พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศฯ และ รองโฆษกสมาคมฯ กล่าวว่า “การปรับปรุงสนามเชียงใหม่ สมโภช 700 ปี เพื่อเตรียมแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี มีความล่าช้า ทำให้ ทางสมาคมฯ และ กกท. มาชี้แจงข้อมูล พร้อมกับชี้แจงความสำคัญ รูปแบบการจัดการแข่งขันว่าเราได้สิทธิ์การจัดแข่งขันนี้มาได้อย่างไร มีเหตุขัดข้องตรงไหน จึงไม่สามารถใช้สนามสมโภช เชียงใหม่ 700 ปี จัดการแข่งขันได้”
“เมื่อไม่สามารถใช้สนาม สมโภช เชียงใหม่ 700 ปี ทำไมจึงใช้สนามบุรีรัมย์ คือ เราขอให้ เอเอฟซี ตรวจสอบสนาม บีจี ปทุมธานี, เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด และสนามอื่นๆ ในช่วงที่เขามาตรวจสนามช่วงเดือนกุมภาพันธ์”
“ซึ่งปัจจุบันเมื่อเราแจ้งว่าสนามเชียงใหม่ ใช้ไม่ได้ เขาเลยอนุญาตให้เรานำเสนอข้อมูลของสนามต่างๆ ซึ่งเรานำเสนอสนามที่เคยจัดการแข่งขันระดับ AFC ซึ่งเรารู้มาตรฐานของเขาอยู่แล้ว จากเวลาที่เหลืออยู่ สนามบุรีรัมย์ มีส่วนที่ต้องปรับปรุงน้อยที่สุด ทำให้ เอเอฟซี เลือกสนามแห่งนี้”
“ท่านประธานในการประชุมก็ให้การบ้าน หลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า ต้องนำมาตรฐานระเบียบต่างๆ ของการสร้างสนามกีฬาส่งให้กับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อศึกษาเป็นแนวทาง เพื่อปรับปรุงสนามกีฬาให้ได้มาตรฐานให้มีความพร้อมรองรับการแข่งขันกีฬาในอนาคตอยู่ตลอดเวลา”
สำหรับ 4 สนามที่ได้รับเลือก จัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบสุดท้าย มี สนามราชมังคลากีฬาสถาน, สนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต, สนามติณสูลานนท์ และสนามช้าง อารีนา
นอกจากนี้ ทาง AFC มีกำหนดการเดินทางมาประเทศไทย เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าการปรับปรุงสนามอีกครั้งในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน และจะส่งมอบภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ต่อไป