วันที่ 19 สิงหาคม 2562 ณ ห้องประชุมบุญสม มาร์ติน กรมพลศึกษา สนามกีฬาแห่งชาติ ปทุมวัน สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับ กรมอาเซียน กระทรวงต่างประเทศ, กรมพลศึกษา, การกีฬาแห่งประเทศไทย จัดการประชุมเพื่อหารือเรื่องการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพร่วมกับชาติอาเซียน ในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2034
การประชุมในครั้งนี้ นำโดย ดร.ปัญญา หาญลำยวง รองปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย ดร.สุริยา จินดาวงษ์ อธิบดีกรมอาเซียน และ ตัวแทนจากภาคอื่นๆ รวมถึง กรวีร์ ปริศนานันทกุล เลขาธิการสมาคมฯ และ คุณ พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ เป็นตัวแทนสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
ภายหลังการประชุม ดร.สุริยา จินดาวงษ์ อธิบดีกรมอาเซียน กล่าวว่า “จากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้สนับสนุนให้ไทยยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพร่วมจัดฟุตบอลโลก ปี 2034 ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยากที่จะให้หาข้อมูลด้านต่างๆ ในการเตรียมความพร้อม ซึ่งควรที่จะต้องมีข้อมูลภายในปีนี้ เพราะเป็นปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ก่อนที่ในช่วงเดือนตุลาคมจะมีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนอีกครั้ง จึงจะต้องเตรียมการว่า ถ้าไทยจะจัดฟุตบอลโลกจะต้องเตรียมความพร้อม และมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง ขณะเดียวกัน เวียดนามเองก็แสดงความสนใจอย่างมากในการยื่นเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลก ซึ่งในปีหน้าเวียดนามก็จะทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนด้วย”
ด้าน นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เปิดเผยว่า “สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ได้มาให้ข้อมูลต่างๆ ในการเป็นเจ้าภาพร่วมกับชาติอาเซียนในการจัดฟุตบอลโลก ปี 2034 ซึ่งทางกรมอาเซียนก็จะนำเอาเรื่องต่างๆ ไปเสนอต่อไปถึงยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าชาติต่างๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ที่เป็นผู้นำในการยื่นเสนอเป็นเจ้าภาพ เพราะเขามีสนามที่พร้อมมากกว่าไทย แต่ไทยเราก็ยังมีโอกาสอยู่ที่จะเป็น 1 ใน 4 ประเทศเจ้าภาพร่วม”
“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นภาครัฐบาลคงจะต้องมากำหนดทิศทางในการพัฒนาเรื่องสนามแข่งขัน และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ถ้าหากเราจะเป็นเจ้าภาพตัดฟุตบอลระดับโลกก็จะต้องเป็นนโบาย และมีความมุ่งมั่นร่วมกัน เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของฟุตบอลโลก แต่เป็นเรื่องของการพัฒนาชาติให้ก้าวไปอยู่แถวหน้าในระดับโลก ถ้าเรามีความมุ่งมั่น เชื่อว่าเราทำได้ และตอนนี้ยังเหลือเวลาในการเตรียมพร้อม ถ้าหากเริ่มกันตอนนี้ เชื่อว่าจะมีความพร้อมทันแน่นอน”
ขณะที่ นายพาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ชี้แจงว่า “การแข่งขันฟุตบอลโลกในอนาคตจะเพิ่มทีมเข้าร่วมเป็น 48 ทีม และจะมีประเทศเจ้าภาพร่วมได้มากที่สุด 4 ประเทศ โดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้มีข้อกำหนดในการจัดฟุตบอลโลก เรื่องแรกคือ สนามแข่งขันต้องมีอย่างน้อย 12 สนาม (ตัวเลือก 14-16 สนาม) และมีความจุ 40,000-80,000 ที่นั่ง เรื่องการอำนวยความสะดวกทีมและผู้ตัดสินจะต้องมีโรงแรม 4-5 ดาวเท่านั้นอย่างน้อย 48 แห่ง (ตัวเลือก 72 แห่ง)”
“ประเทศที่จะเสนอตัวจัดฟุตบอลโลกจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาล ซึ่งต้องลงนามโดยนายกรัฐมนตรี และ/หรือรัฐมนตรีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทุกภาคส่วนต้องให้การสนับสนุน และต้องถูกบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ สำหรับสัดส่วนที่ฟีฟ่าจะให้ความพร้อมสำหรับประเทศที่ยื่นบิดส่วนมากจะเป็นเรื่องสนามแข่งขันมากถึง 70 เปอร์เซ็น และอื่นๆ 30 เปอร์เซ็น ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยมีเพียงสนามราชมังคลากีฬาสถาน ที่มี่ความจุราว 49,000 คนเท่านั้น ถ้าเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย ที่มีสนามที่มีความพร้อมหลายสนาม ดังนั้น ไทยจะต้องมีการพัฒนาในเรื่องสนามแข่งขันเพิ่มขึ้นด้วย”
จากนั้นที่ประชุมได้มีการหารือถึงเรื่องสนามแข่งขันของไทย รวมทั้งมีข้อเสนอในการก่อสร้างสนามแห่งใหม่ขึ้น เพื่อรองรับการจัดฟุตบอลโลก เนื่องจากสนามเดิมที่มีอยู่นั้น เป็นโครงสร้างเดิมที่มีการก่อสร้างเมื่อหลายสิบปี ดังนั้นควรที่จะก่อสร้างสนามใหม่ให้สอดคล้องกับฟุตบอลสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
ขณะที่ กกท.เสนอว่า มีโครงการที่จะก่อสร้างสนามกีฬาระดับชาติ เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ ปี 2026 อยู่แล้ว จึงเตรียมที่จะนำมาบูรณาการร่วมกัน
นอกจากนี้ กรมอาเซียนเสนอที่ประชุมว่า ให้มีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการแห่งชาติ เพื่อร่วมมือกันเตรียมพร้อมในการยื่นเสนอเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลก 2034 เนื่องจากฟุตบอลโลกไม่ใช่เพียงแค่เรื่องกีฬาฟุตบอล แต่เป็นเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ของชาติด้วย