นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานแถลงข่าวความพร้อมในการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก รายการ “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์มาราธอน แบงค็อก พรีเซ็นต์ บาย โตโยต้า” ครั้งที่ 4 หรือ “วิ่งผ่าเมือง”
โดยมี นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการ ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.), พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, นายสุชาติ แจสุรภาพ ประธานกรรมการมาตรฐานการวิ่ง สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ, นายกอบเกียรติ แสงวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยแลนด์ไตรลีก และผู้แทนภาคเอกชน ร่วมงานอย่างคับคั่ง
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานในงานแถลงข่าวความพร้อมของการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองจากสมาคมกรีฑาโลก ให้เป็น 1 ในการแข่งขันมาราธอนในเมืองหลวงระดับต้นๆ ของโลก รายการ “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน แบงค็อก พรีเซ็นต์ บาย โตโยต้า” ครั้งที่ 4 หรือ “วิ่งผ่าเมือง” ถือเป็นรายการวิ่งมาราธอนที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งในปี 2559 โดยได้มอบหมายให้ ททท. เป็นแม่งานหลัก ซึ่งตนขอชมเชยแก่ท่านผู้ว่าการ ททท. และคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขันทุกท่าน ที่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ของการจัดงานวิ่งในเมืองหลวงได้ด้วยดี จนทำให้รายการนี้ได้รับการยอมรับจาก World Athletics ให้เป็นรายการมาราธอนที่จัดขึ้นในเมืองหลวงระดับต้นๆ ของทวีปเอเชีย
“การแข่งขันครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงเหล่านักวิ่ง อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วยการร่วมกันมาประกาศความพร้อมของการจัดงานในวันนี้ ผมขออวยพร ให้การดำเนินการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์มาราธอน แบงค็อก พรีเซ็นต์ บาย โตโยต้า” ครั้งที่ 4 ประสบความสำเร็จไปด้วยดี สามารถสร้างพลังขับเคลื่อนของกลุ่มผู้รักการออกกำลังกาย ให้หันกลับมาใส่ใจในสุขภาพของตัวเอง ซึ่งถือเป็นภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บได้ดีกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง อีกทั้งยังเป็นการประกาศสู่ทั่วโลกว่าประเทศไทยสามารถที่จะจัดงานอีเว้นท์ระดับโลกได้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19″ นายพิพัฒน์กล่าว
ทางด้าน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ในฐานะประธานอำนวยการคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวว่า การแข่งขันรายการนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งได้เลื่อนมาจากกำหนดการเดิม คือ วันที่ 14 มี.ค.64 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนั้นที่ยังมีอัตราการแพร่ระบาดในขั้นสูง คณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขันฯ จึงมีมติให้เลื่อนการจัดการแข่งขันมาเป็นวันที่ 26-27 ก.พ.นี้ โดยครั้งนี้กำหนดจัดขึ้น 2 วัน แบ่งเป็นวันเสาร์ จะจัดแข่งขันในประเภท 10 กม. และ 5 กม. ส่วนวันอาทิตย์ จะจัดแข่งขันในประเภทมาราธอน และฮาล์ฟมาราธอน โดยสาเหตุที่คณะกรรมการฯ ตัดสินใจ แบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 วัน เนื่องมาจากได้มีการหารือร่วมกับทางกรุงเทพมหานคร โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และคณะกรรมการควบคุมโรคของกรุงเทพมหานคร ได้มีข้อแนะนำให้ลดจำนวนผู้เข้าร่วมแข่งขันในแต่ละวัน ไม่ให้เกิน 15,000 คน ดังนั้น คณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ จึงแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 วัน และได้รับมติเห็นชอบให้จัดงานนี้ ภายใต้ข้อกำหนดที่ต้องให้ฝ่ายจัดการแข่งขันปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
“ผมจึงได้กำชับไปยังคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และปฏิบัติตามข้อกำหนดของทาง ศบค. กระทรวงสาธารณสุข และ กรุงเทพมหานคร อย่างเคร่งครัด ขณะนี้ตนคิดว่าคณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ มีความพร้อมเกินกว่า 85% แล้ว จากนี้ไปเหลือเวลาอีก 18 วัน ฝ่ายต่างๆ จะเริ่มเก็บรายละเอียดในส่วนที่เหลือ ซึ่งตนจะนัดประชุมเพื่อสรุปความคืบหน้าของการเตรียมงานในช่วงสุดท้าย โดยจะรายงานให้ท่านรัฐมนตรีฯ ทราบอีกครั้งในช่วงก่อนวันจัดงาน” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีการแข่งขันมาราธอนเพียง 3 รายการ ที่ได้รับการรับรองจาก World Athletics ซึ่งทั้ง 3 รายการนี้ การกีฬาแห่งประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการผลักดันทั้งหมด โดยในแต่ละรายการ ก็มีจุดขายที่แตกต่างกันไป อาทิ บุรีรัมย์มาราธอน ขายความมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น สร้างเสน่ห์ของเมืองให้สามารถดึงดูดนักวิ่งจากทั่วประเทศได้ ส่วนรายการ “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน แบงค็อก พรีเซ็นต์ บาย โตโยต้า” ก็มีอีกจุดขายที่ถือว่าเป็นจุดเด่นในระดับโลก นั่นคือ เป็นมาราธอนที่จัดขึ้นในเมืองหลวง ซึ่ง ณ ปัจจุบัน การจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนในเมืองหลวง ถือว่าเป็นงานที่มีความยากเป็นอย่างมาก ตนคิดว่า หากสามารถจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนในเมืองหลวงให้ได้ตามมาตรฐานการจัดงานของ World Athletics อย่างต่อเนื่อง ก็จะมีนักวิ่งจากทั่วโลกให้ความสนใจ เดินทางมาร่วมการแข่งขันเป็นจำนวนมากในอนาคตอย่างแน่นอน
“รายการนี้ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรหลัก ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นั่นคือ ททท. และ กก. โดยทั้ง 2 องค์กร ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ การพยายามผลักดันให้เกิดการจัดกิจกรรมกีฬาส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อสร้างเศรษฐกิจของประเทศ หรือ Sports Tourism สำหรับรายการนี้ กกท. จะให้การสนับสนุนด้านฝ่ายเทคนิคการแข่งขัน อาทิ การจับเวลา ผลการแข่งขัน และควบคุมสารกระตุ้น (Doping Control) โดยจะทำงานควบคู่ไปกับสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสมาคมกรีฑาโลก นอกจากนี้ตนยังได้อนุมัติให้ใช้ ราชมังคลากีฬาสถาน เป็นสถานที่ในการปล่อยตัว ซึ่งถือว่าเป็น “ไฮไลท์” ประจำการแข่งขันรายการนี้ นอกจากนี้ทางท่านรัฐมนตรี ยังต้องการที่จะผลักดันไปสู่การวิ่งระดับ โกลด์ ลาเบล ในอนาคต ซึ่งก้ต้องร่วมมือกันเพื่อสนับสนุน ผลักดันให้ไปสู่เป้าหมายในอนาคต” รองผู้ว่าการ กกท. กล่าว
พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าว “สำนักงานตำรวจนครบาลได้รับมอบหมายให้ดูแลความเรียบร้อยทางด้านการรักษาความปลอดภัยและงานจราจร ซึ่งหลังจากที่ได้มีการประชุมและหารือถึงแผนการปฏิบัติด้านการจราจร ร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการแข่งขันแล้ว ตนเห็นว่าการแข่งขันรายการนี้เป็นการแข่งขันวิ่งมาราธอนในระดับโลก ที่จัดขึ้นโดยภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมมือกัน สำนักงานตำรวจนครบาลมีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทางด้านการจราจรอย่างเต็มความสามารถ นอกจากนี้ ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนที่ได้รับมอบหมายในการปฏิบัติงานในช่วงการจัดการแข่งขันทั้ง 2 วัน ให้เข้ารับการตรวจ ATK จากฝ่ายแพทย์และพยาบาลของคณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและผู้ร่วมแข่งขันทุกท่าน”
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า “ตนพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในการจัดการแข่งขันในครั้งนี้อย่างเต็มที่ ทั้งการให้คำแนะนำหรือการสนับสนุนทางด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ให้มาเป็นคณะกรรมการฝ่ายการแพทย์และพยาบาล ทั้งนี้มีภารกิจสำคัญยิ่ง คือ การให้บริการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด -19 กับผู้เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวนมากกว่า 20,000 คน และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครต่างๆ อีก 5,000 ราย โดยจะใช้สถานที่ตรวจ ATK และรับอุปกรณ์การแข่งขันที่ พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ระหว่างวันที่ 24-26 ก.พ. เวลา 11.00 – 19.00 น. นอกจากการตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวดแล้ว ตนยังช่วยกำหนดแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุข ตามมาตรการ Covid Free Setting ภายใต้ข้อกำหนดของ ศบค. รวมถึงแนวทางการปฏิบัติเพื่อสื่อสารกับนักวิ่งทั้งก่อน/ระหว่าง/หลัง การแข่งขัน”
นายสุชาติ แจสุรภาพ ประธานกรรมการมาตรฐานการวิ่ง สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าว ตนขอแสดงความยินดีกับรายการ “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน แบงค็อก” ที่จัดได้อย่างมีมาตรฐานสากล เป็นไปตามข้อกำหนดของสมาคมกรีฑาโลก จนทำให้รายการนี้เป็นรายการเดียวในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการรับรองจากสมาคมกรีฑาโลกให้ได้รับ World Athletics Label ทั้ง 3 ระยะแข่งขัน ในรายการเดียวกัน และเท่าที่ตนได้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสมาคมกรีฑาโลก ทราบว่า ขณะนี้ทางสมาคมกรีฑาโลก กำลังพิจารณาให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานของสมาคมกรีฑาโลก 2 งานใหญ่ ในปีนี้ คือ การจัดการประชุมสัมมนาของสมาคมกรีฑาโลก World Athletics Global Summit 2022 โดยจะมีการจัดการประชุมในสัปดาห์เดียวกับการจัดการแข่งขัน “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน แบงค็อก” ช่วงปลายปี นอกจากนี้ประเทศไทย จะได้รับเกียรติสูงสุดในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิ่งเทรลชิงแชมป์โลก World Mountain and Trail Running Championships ในเดือน พ.ย.อีกด้วย ซึ่งทั้งสองกิจกรรมระดับโลกนี้ ทาง World Athletics จะมีการประกาศไปทั่วโลกในระยะเวลาอีกไม่นาน” นายสุชาติกล่าวทิ้งท้าย
นายกอบเกียรติ แสงวนิชย์ ในฐานะผู้อำนวยการจัดงาน กล่าวถึงรายละเอียดของการแข่งขันว่า รายการนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ พระราชทานถ้วยรางวัลของรายการจำนวนทั้งสิ้น 8 ถ้วย ได้แก่ ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 ถ้วย
สำหรับผู้ชนะในประเภทบุคคลทั่วไปชาย และบุคคลทั่วไปชายไทย ระยะมาราธอน, ถ้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จำนวน 2 ถ้วย สำหรับผู้ชนะในประเภทบุคคลทั่วไปหญิง และบุคคลทั่วไปหญิงไทย ระยะมาราธอน และถ้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ จำนวน 4 ถ้วย สำหรับผู้ชนะในประเภทบุคคลทั่วไป ชายและหญิง ระยะฮาล์ฟมาราธอน และผู้ชนะในประเภทบุคคลทั่วไป ชายไทยและหญิงไทย ระยะฮาล์ฟมาราธอน นอกจากนี้การแข่งขันยังเป็นรุ่นกลุ่มอายุต่างๆ โดยมีถ้วยรางวัลให้ชิงชัยกันทั้งสิ้น จำนวน 200 รางวัล มีเงินรางวัลรวมเป็นเงิน 1,729,500 บาท คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ทั้งสิ้นประมาณ 20,000 คน จากยอดผู้สมัคร 26,500 คน โดยแบ่งเป็นระยะ 10 กม. และ 5 กม. ในวันเสาร์ที่ 26 ก.พ. จำนวน 7,000 คน และระยะ 42.195 กม. และระยะ 21.1 กม. ในวันอาทิตย์ที่ 27 ก.พ. อีกจำนวน 13,000 คน